คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2509/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างแถลงรับข้อเท็จจริงแล้วท้ากันให้ศาลแรงงานวินิจฉัยจากข้อเท็จจริงดังกล่าวโดยไม่สืบพยานว่า ตามกฎระเบียบเกี่ยวกับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ข้อที่ 2เพียงว่าหากศาลวินิจฉัยว่า พนักงานมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีเมื่อเริ่มทำงานในปีที่ 2 โดยมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้6 วัน การที่ผู้คัดค้านยื่นใบลาหยุดพักผ่อนประจำปีในวันที่ 15และวันที่ 21 กรกฎาคม 2539 และหยุดงานไปในวันดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิเกินกว่าที่ผู้ร้องกำหนด ถือเป็นการละทิ้งหน้าที่ และขาดงานเท่านั้น หาได้มีข้อตกลงหรือคำท้าว่า หากศาลวินิจฉัย ความหมายของกฎระเบียบเกี่ยวกับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ข้อที่ 2 เป็นไปตามความหมายที่ผู้ร้องอ้างแล้ว ผู้คัดค้าน จะต้องถูกลงโทษตามที่ผู้ร้องได้ร้องขอด้วยไม่ ฉะนั้น เมื่อศาลแรงงานพิจารณากฎระเบียบดังกล่าวแล้ววินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีเกินกว่าที่ผู้ร้อง กำหนดเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ของผู้ร้องจึงเป็นการวินิจฉัยไปตามคำท้าครบถ้วนแล้ว หาใช่วินิจฉัยนอกเหนือไปจากคำท้า ศาลแรงงานใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านเพียงแต่ตักเตือนเป็นหนังสืออย่างเดียว โดยไม่อนุญาตให้ลงโทษปรับลดผู้คัดค้านมาเป็นพนักงานรายวัน เพราะเห็นว่าการที่ผู้คัดค้านฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องดังกล่าวก็โดยเข้าใจว่าสิทธิในการลาหยุดพักผ่อนประจำปีของผู้คัดค้านยังเหลืออยู่ มิใช่เป็นการจงใจละทิ้งหน้าที่ หรือขาดงานไปโดยไม่มีเหตุอันควร อันเป็นการใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านตามความร้ายแรงแห่งพฤติการณ์ซึ่งศาลแรงงานชอบที่จะกระทำได้ ไม่เป็นการขัดต่อบทบัญญัติ แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความ

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 15 และวันที่ 21กรกฎาคม 2540 ผู้คัดค้านซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างและลูกจ้างของผู้ร้องได้ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควรอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับและคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างของผู้ร้อง ขออนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านโดยการตักเตือนเป็นหนังสือและปรับลดจากพนักงานรายเดือนเป็นพนักงานรายวัน
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า วันที่ 15 และวันที่ 21 กรกฎาคม2540 ผู้คัดค้านลาหยุดพักผ่อนประจำปีตามระเบียบข้อบังคับของผู้ร้องโดยได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา ผู้คัดค้านจึงไม่ได้กระทำผิดตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง ขอให้ยกคำร้อง
ในวันนัดพิจารณาและสืบพยานผู้ร้อง คู่ความแถลงรับกันว่าผู้คัดค้านเข้าทำงานกับผู้ร้องเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2526 จนถึงวันนัดดังกล่าวมีระยะเวลาทำงาน 14 ปี ตามกฎระเบียบเกี่ยวกับการหยุดพักผ่อนประจำปีของผู้ร้อง ข้อ 2 มีว่า พนักงานทำงานติดต่อกันครบ 1 ปีแรก มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี 6 วัน และเมื่อครบปีการทำงานติดต่อกันในแต่ละปีมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีเพิ่มขึ้นปีละ 1 วันแต่สูงสุดไม่เกิน 15 วัน ในช่วงวันที่ 4 สิงหาคม 2539 ถึงวันที่4 สิงหาคม 2540 ผู้คัดค้านได้ใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีไปแล้ว15 วัน คงมีปัญหาโต้เถียงกันและขอให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยความหมายแห่งกฎระเบียบเกี่ยวกับการหยุดพักผ่อนประจำปีของผู้ร้องข้อ 2. ว่าเมื่อพนักงานทำงานครบ 1 ปี แล้ว จึงมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีในปีถัดมาได้ 6 วัน ตามที่ผู้ร้องอ้าง หรือหมายความว่าเมื่อทำงานครบ1 ปีแล้วเริ่มทำงานในปีที่สองพนักงานจึงมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี7 วัน และอีก 6 วัน ซึ่งเป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปีของปีแรกการทำงานรวมเป็น 13 วัน ดังที่ผู้คัดค้านโต้แย้ง หากศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่ามีความหมายดังที่ผู้ร้องอ้าง สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีของผู้คัดค้านในปี 2539 มีเพียง 15 วัน การที่ผู้คัดค้านยื่นใบลาหยุดพักผ่อนประจำปีในวันที่ 15 และวันที่ 21 กรกฎาคม 2540และหยุดงานไปในวันดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิเกินกว่าที่ผู้ร้องกำหนดถือเป็นการละทิ้งและขาดงานแต่หากศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่ามีการนัดหมายดังที่ผู้คัดค้านโต้แย้งสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีของผู้คัดค้านในปี 2539 จะมีมากกว่า 15 วัน การที่ผู้คัดค้านลาหยุดพักผ่อนประจำปีในวันที่ 15 และวันที่ 21 กรกฎาคม 2540 ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิเกินกว่าที่ผู้ร้องกำหนด ไม่เป็นการละทิ้งหน้าที่และขาดงานศาลแรงงานกลางเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้จึงให้งดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่า ตามกฎระเบียบเกี่ยวกับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเอกสารท้ายคำแถลงหมายเลข 10 ข้อ 2 ที่ว่า เมื่อพนักงานทำงานติดต่อกันครบ 1 ปีแรก มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี 6 วันนั้นมีความหมายว่า ในปีแรกที่ลูกจ้างเข้าทำงาน ลูกจ้างไม่มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี เมื่อผ่านระยะเวลาทำงานติดต่อกันครบ 1 ปีในปีต่อไปลูกจ้างจึงจะมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ตามระเบียบที่ผู้ร้องกำหนดผู้คัดค้านเข้าทำงานในวันที่ 4 สิงหาคม 2526 ครบ 1 ปี ในวันที่ 4 สิงหาคม 2527 สิทธิในการลาหยุดพักผ่อนประจำปีของผู้คัดค้านจึงเริ่มตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2527 โดยผู้คัดค้านมีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้ 6 วัน มิใช่ 13 วัน ฉะนั้น การที่ผู้คัดค้านยื่นใบลาหยุดพักผ่อนประจำปีในวันที่ 15 และวันที่ 21กรกฎาคม 2540 จึงเป็นการใช้สิทธิเกินกว่าที่ผู้ร้องกำหนดแต่จากคำแถลงของผู้คัดค้าน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ผู้คัดค้านหยุดงานไปในวันดังกล่าวก็โดยเข้าใจว่าสิทธิในการลาหยุดพักผ่อนประจำปีของผู้คัดค้านยังเหลืออยู่ มิใช่เป็นการจงใจละทิ้งหน้าที่หรือขาดงานไปโดยไม่มีเหตุอันควร แต่อย่างไรก็ตามเมื่อผู้คัดค้านฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้อง ผู้คัดค้านก็สมควรได้รับโทษตามความเหมาะสมแก่กรณีความผิดจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านโดยตักเตือนเป็นหนังสือ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างแถลงรับข้อเท็จจริงแล้วท้ากันให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยโดยไม่สืบพยานว่า ตามกฎระเบียบเกี่ยวกับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเอกสารหมายเลข 10 ข้อ 2 ที่ว่า “เมื่อพนักงานทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี 6 วัน” มีความหมายว่า พนักงานทำงานมาครบ 1 ปีแล้ว จึงจะมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีในปีถัดมาได้ 6 วัน หรือหมายความว่า เมื่อพนักงานทำงานครบ 1 ปีแล้วเมื่อเริ่มทำงานในปีที่สองพนักงานมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี 7 วันและอีก 6 วัน ซึ่งเป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปีของปีแรกของการทำงานรวมเป็น 13 วัน หากศาลวินิจฉัยว่าพนักงานมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีเมื่อเริ่มทำงานในปีที่สองโดยมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้6 วันแล้ว สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีของผู้คัดค้านในปี 2539มีเพียง 15 วัน เท่านั้น ที่ผู้คัดค้านยื่นใบลาหยุดพักผ่อนประจำปีในวันที่ 15 และวันที่ 21 กรกฎาคม 2540 และหยุดงานในวันดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิเกินกว่าที่ผู้ร้องกำหนด ถือเป็นการละทิ้งหน้าที่และขาดงานซึ่งผู้คัดค้านจะต้องได้รับโทษตามคำสั่งของผู้ร้องแต่ถ้าศาลวินิจฉัยว่าเมื่อทำงานครบ 1 ปี เริ่มทำงานในปีที่สองพนักงานมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี 7 วัน และอีก 6 วัน ซึ่งเป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปีแรกของการทำงานรวมเป็น 13 วัน สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีของผู้คัดค้านในปี 2539 จะมีมากกว่า 15 วัน การลาหยุดพักผ่อนประจำปีของผู้คัดค้านในวันที่ 15 และวันที่ 21 กรกฎาคม 2540ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิเกินกว่าที่ผู้ร้องกำหนด ไม่เป็นการละทิ้งหน้าที่และขาดงานตามคำร้องของผู้ร้อง ซึ่งผู้ร้องจะลงโทษผู้คัดค้านตามคำร้องมิได้ ดังนั้น เมื่อศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยว่าผู้คัดค้านมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีเมื่อทำงานติดต่อกันครบ 1 ปีได้ 6 วัน มิใช่ 13 วัน การที่ผู้คัดค้านยื่นใบลาหยุดพักผ่อนประจำปีในวันที่ 15 และวันที่ 21 กรกฎาคม 2540 จึงเป็นการใช้สิทธิเกินกว่าที่ผู้ร้องกำหนด ผู้คัดค้านจะต้องถูกลงโทษตามที่ผู้ร้องได้ร้องขอการที่ศาลแรงงานกลางกลับวินิจฉัยอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านเพียงตักเตือนเป็นหนังสืออย่างเดียว โดยให้ยกคำขออื่น เป็นการวินิจฉัยนอกเหนือไปจากคำท้าของคู่ความเป็นการมิชอบนั้น เห็นว่าตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลาง ฉบับลงวันที่ 8 ตุลาคม 2540 และฉบับลงวันที่ 22 ตุลาคม 2540 ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างแถลงรับข้อเท็จจริงกันแล้วท้ากันให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยจากข้อเท็จจริงดังกล่าวโดยไม่สืบพยานว่าตามกฎระเบียบเกี่ยวกับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเอกสารหมายเลข 10 ท้ายคำแถลงลงวันที่ 3 ตุลาคม 2540 ข้อที่ 2 หากศาลวินิจฉัยว่า พนักงานมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีเมื่อเริ่มทำงานในปีที่ 2 โดยมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ 6 วัน การที่ผู้คัดค้านยื่นใบลาหยุดพักผ่อนประจำปีในวันที่ 15 และวันที่ 21 กรกฎาคม 2539 และหยุดงานไปในวันดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิเกินกว่าที่ผู้ร้องกำหนดถือเป็นการละทิ้งหน้าที่และขาดงานเท่านั้น หาได้มีข้อตกลงหรือคำท้าว่า หากศาลวินิจฉัยความหมายของกฎระเบียบเกี่ยวกับวันหยุดพักผ่อนประจำปีข้อที่ 2 เป็นไปตามความหมายที่ผู้ร้องอ้างแล้ว ผู้คัดค้านจะต้องถูกลงโทษตามที่ผู้ร้องได้ร้องขอด้วยไม่ ฉะนั้น เมื่อศาลแรงงานกลางพิจารณากฎระเบียบดังกล่าวแล้ววินิจฉัยว่าผู้คัดค้านใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีเกินกว่าที่ผู้ร้องกำหนดเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องอันเป็นการวินิจฉัยไปตามคำท้าครบถ้วนแล้ว หาใช่วินิจฉัยนอกเหนือไปจากคำท้าดังที่ผู้ร้องอุทธรณ์ไม่ ส่วนที่ศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านเพียงแต่ตักเตือนเป็นหนังสืออย่างเดียว โดยไม่อนุญาตให้ลงโทษปรับลดผู้คัดค้านมาเป็นพนักงานรายวันด้วยเพราะเห็นว่า การที่ผู้คัดค้านฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องดังกล่าวก็โดยเข้าใจว่าสิทธิในการลาหยุดพักผ่อนประจำปีของผู้คัดค้านยังเหลืออยู่ มิใช่เป็นการจงใจละทิ้งหน้าที่หรือขาดงานไปโดยไม่มีเหตุอันควร อันเป็นการใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านตามความร้ายแรงแห่งพฤติการณ์ซึ่งศาลแรงงานกลางชอบที่จะกระทำได้ หาขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง
พิพากษายืน

Share