คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2508/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกระทำอย่างเดียวกันอาจเป็นทั้งละเมิดและผิดสัญญาด้วยในขณะเดียวกันได้ โจทก์บรรยายฟ้องเป็นใจความโดยละเอียดแล้วว่าในฐานะที่จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ จำเลยมีหน้าที่ตามข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานประการใด กระทำหรืองดเว้นการกระทำประการใด ผลเสียหายอันเกิดแต่การนั้นเป็นประการใดเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาพร้อมด้วยคำขอบังคับครบถ้วนตามความต้องการแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้วส่วนการกระทำของจำเลยเกิดแต่มูลหนี้อันใดจะปรับด้วยมูลหนี้สัญญาหรือมูลหนี้ละเมิดเป็นปัญหาข้อกฎหมายสุดแต่ศาลจะวินิจฉัยไปตามข้อเท็จจริงที่ได้ความ การฟ้องด้วยมูลหนี้สองประการมาในคำฟ้องหาเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่
ศาลแรงงานกลางรับฟังคำให้การของจำเลยในสำนวนการสอบสวนสามฉบับที่โจทก์ส่งศาลโดยสั่งงดสืบพยานไม่รับฟังพยานหลักฐานใด ๆ ในชั้นพิจารณาที่คู่ความจะนำสืบต่อไปนั้นหาชอบด้วยกระบวนพิจารณาไม่ คดีจึงปรากฏเหตุที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายวิธีพิจารณาความว่าด้วยการพิจารณาพิพากษา มีเหตุสมควรที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาใหม่ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ ตำแหน่งพนักงานคลังสินค้าชั้น 4 โจทก์ได้มีคำสั่งมอบหมายให้จำเลยปฏิบัติหน้าที่คลังสินค้าจังหวัดอุดรธานีมีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลรับผิดชอบสินค้า ทรัพย์สิน รับจ่าย เก็บสินค้าให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยดูแลรักษาสินค้าให้ปลอดภัยจากการโจรกรรม การยักยอก ดูแลป้องกันสินค้ามิให้สูญหาย ฯลฯ เมื่อระหว่างวันที่ 4 มกราคม2528 ถึงวันที่ 29 ตุลาคม 2528 จำเลยได้กระทำผิดสัญญาจ้างและทำละเมิดต่อโจทก์ กล่าวคือโจทก์ได้รับฝากข้าวเปลือกจ้าวจากเกษตรกรไว้จำนวน 1,656,127 ตัน จำเลยได้จงใจละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบข้อบังคับของโจทก์รู้เห็นเป็นใจให้นายมนตรี อรุณเดชาชัย กรรมการผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงสีไฟสหชัยอุดรธานี ผู้ให้เช่าคลังสินค้า นำข้าวเปลือกจำนวน149.268 ตัน ราคา 373,170 บาท ออกไปจำหน่าย หรือมิฉะนั้นจำเลยปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ ไม่ดูแลคลังสินค้าให้ปลอดภัยจากการโจรกรรมและสูญหาย ไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่การงานและรักษาผลประโยชน์ของโจทก์ จนเป็นเหตุให้นายมนตรีอรุณเดชาชัย นำข้าวเปลือกออกจากที่เก็บไปจำหน่าย โจทก์ทราบเรื่องเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2529 โจทก์ได้ใช้เงินจำนวน373,170 บาทแก่ผู้ฝากข้าวไปแล้วตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม2529 ขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายเงิน 373,170 บาทดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2529 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ได้ชำระเงินให้แก่ผู้ฝากถึงวันฟ้องเป็นเงิน 16,993.78บาท และให้จ่ายดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินต้น390,163.78 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้กระทำผิดสัญญาจ้างและไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยไม่มีรู้เห็นเป็นใจให้นายมนตรีอรุณเดชาชัย นำข้าวเปลือกออกจากฉากที่เก้บไปจำหน่าย ฟ้องโจทก์ขาดอายุความละเมิดแล้ว ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมไม่ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาว่า จำเลยรู้เห็นเป็นใจหรือประมาทเลินเล่อกันแน่และไม่แจ้งชัดว่าโจทก์ฟ้องจำเลยเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานหรือละเมิด
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 373,170 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2529 จนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่าจำเลยอุทธรณ์ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมกล่าวคือ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจงใจหรือประมาทเลินเล่อจำเลยจึงไม่อาจเข้าใจได้ว่า โจทก์จะเลือกนำสืบในทางใดจะนำสืบในทางจงใจหรือนำสืบในทางประมาทเลินเล่อ จึงเป็นการทำให้จำเลยเสียเปรียบข้อนี้ เห็นว่า จำเลยเข้าใจกระบวนพิจารณาคลาดเคลื่อนไปจึงได้อุทธรณ์ขึ้นมาดังนี้ การพิจารณาว่าคำฟ้องใดเคลือบคลุมหรือไม่นั้นเป็นกระบวนพิจารณาชั้น ‘ตรวจคำคู่ความ’ ซึ่งศาลจะพึงกระทำเมื่อโจทก์เสนอข้อหาต่อศาล ส่วนการที่จะนำสืบพยานหลักฐานอย่างใดเป็นกระบวนพิจารณาชั้น ‘การนั่งพิจารณา’ อันกระทำหลังจากจำเลยยกข้อต่อสู้เป็นข้อแก้คำฟ้องแล้วกระบวนพิจารณาทั้งสองอย่างนั้นมีขั้นตอนและวิธีการพิจารณาที่แตกต่างกัน ที่จำเลยจะถือเอากระบวนพิจารณาในชั้นสืบพยาน หรือกระบวนพิจารณานั้น’การนั่งพิจารณา’ อันเป็นกระบวนพิจารณาในชั้นหลังมาเป็น’เหตุ’ ให้หวนกลับไปถึงกระบวนพิจารณาในชั้นแรกหาเป้นเหตุผลแก่กันและกัน อันจะทำให้คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุมไม่ อุทธรณ์จำเลยส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนข้อที่ว่าโจทก์ฟ้องว่า จำเลยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออันเป็นข้อหาในมูลละเมิด แต่ในขณะเดียวกันก็ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วยเป็นการฟ้องที่เอาเปรียบจำเลย ทำให้จำเลยหลงข้อต่อสู้ ข้อนี้ เห็นว่าการกระทำอย่างเดียวกันอาจเป็นทั้งละเมิดและผิดสัญญาไปด้วยในขณะเดียวกันได้ ซึ่งคดีนี้โจทก์ได้บรรยายฟ้องเป็นใจความโดยละเอียดแล้วว่า ในฐานะที่จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์จำเลยมีหน้าที่ตามข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำำานประการใดกระทำหรืองดเว้นการกระทำประการใด ผลเสียหายอันเกิดแต่การนั้นเป็นประการใด ดังนี้ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาพร้อมด้วยคำขอบังคับครบถ้วนตามความต้องการแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้ว โจทก์มีข้อทุกข์ร้อนที่แท้จริงประการใดก็ได้บรรยายจนจบสิ้นสมแก่หน้าที่ของโจทก์แล้ว ในข้อที่ว่าการกระทำของจำเลยเกิดแต่มูลหนี้อันใดจะปรับด้วยมูลหนี้สัญญาหรือมูลหนี้ละเมิดเป็นปัญหาข้อกฎหมายสุดแต่ศาลจะวินิจฉัยไปตามข้อเท็จจริงที่ได้ความ การฟ้องด้วยมูลหนี้สองประการมาในคำฟ้องหาเป็นฟ้องเคลือบคลุมตามที่จำเลยอุทธรณ์ไม่
จำเลยอุทธรณ์อีกข้อหนึ่งว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความละเมิดแล้วเพราะตามคำฟ้องข้อ 3 โจทก์บรรยายฟ้องมุ่งประสงค์จะบังคับตามมูลหนี้ละเมิดอย่างเดียวหาได้บรรยายฟ้องบังคับตามมูลสัญญาจ้างแรงงานด้วยไม่ ข้อนี้ เห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องข้อ 3ว่า ‘เมื่อระหว่างวันที่ 4 มกราคม 2528 ถึงวันที่ 29 ตุลาคม 2528ซึ่งเป็นระยะเวลาที่จำเลยปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าคลังสินค้าจังหวัดอุดรธานี มีหน้าที่ต้องปฏิบัติดังกล่าวในข้อ 2 จำเลยได้กระทำผิดสัญญาจ้างและทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย……….’คำฟ้องโจทก์เป็นดังนี้ เห็นว่า คำฟ้องข้อ 3 ได้บรรยายฟ้องทั้งข้อหามูลละเมิดและมูลสัญญาจ้างแรงงานไปในขณะเดียวกันโดยอ้างถึงคำฟ้องข้อ 2 ซึ่งจำเลยก็ยอมรับว่าคำฟ้องโจทก์เป็นเช่นนั้นดังจะเห็นได้จากอุทธรณ์ข้อแรกและศาลฎีกาก็ได้วินิจฉัยไว้แล้วแต่ตอนต้นว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องเช่นนั้น ถ้าหากฟ้องโจทก์จะขาดอายุความละเมิดจริง(ซึ่งศาลก็ยังมิได้ฟังดังนั้น) ฟ้องโจทก์ในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานก็หาขาดอายุความไม่ อุทธรณ์จำเลยข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้นอีกดุจกัน
จำเลยอุทธรณ์เป็นข้อต่อไปสรุปเป็นใจความสำคัญได้ว่าศาลแรงงานกลางพิจารณาเพียงแต่สำนวนการสอบสวนสามฉบับที่โจทก์ส่งศาลเท่านั้น มิได้พิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์จำเลยในชั้นพิจารณาประการใดเพราะสั่งงดสืบพยานเสียก่อน หาชอบด้วยกระบวนพิจารณาไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การรับฟังคำให้การของจำเลยตามคำให้การในสำนวนการสอบสวนสามฉบับที่โจทก์ส่งศาลโดยไม่รับฟังพยานหลักฐานใด ๆ ในชั้นพิจารณาที่คู่ความจะนำสืบต่อไปนั้นหาชอบด้วยกระบวนพิจารณาไม่ คดีจึงปรากฏเหตุที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายวิธีพิจารณาความว่าด้วยการพิจารณาพิพากษา มีเหตุสมควรที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาใหม่ อุทธรณ์จำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาประเด็นข้อ 1 และประเด็นข้อ 4 แล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีไปตามรูปความ.

Share