คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2507/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องในส่วนที่เกี่ยวกับพนักงานขับรถได้กำหนดไว้ว่า พนักงานผู้ใดฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานจะถูกพิจารณาโทษไว้ดังนี้ (1) ตักเตือนด้วยวาจาและบันทึกการตักเตือน(2) การตักเตือนเป็นหนังสือ (3) พักงาน 3 วันโดยไม่ได้รับค่าจ้าง (4) พักงาน 7 วัน โดยไม่ได้รับค่าจ้าง และ(5) ปลดออก ดังนั้นในการพิจารณาโทษพนักงานตามระเบียบข้อบังคับดังกล่าวจึงต้องดูพฤติการณ์ของพนักงานที่กระทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับตามความร้ายแรงเป็นเรื่อง ๆ ไป การกระทำความผิดของ ม. พนักงานขับรถในครั้งก่อนผู้ร้องได้ลงโทษไปแล้ว และการกระทำความผิดของ ม.ในครั้งนี้มีระยะห่างจากการกระทำความผิดครั้งก่อน 1 ปีเศษโดยไม่ปรากฏว่าระหว่างนั้น ม. ได้ขับรถประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้บุคคลภายนอกและผู้ร้องเสียหาย ทั้งความเสียหายที่ได้รับในครั้งนี้ก็คิดเป็นเงินประมาณ 3,500 บาท เมื่อ พิจารณาสภาพของรถที่ ม. ขับและเวลาที่กระทำความผิดแล้วเห็นได้ว่าความผิดของ ม. ไม่ร้ายแรง ดังนั้น การที่ศาลแรงงานมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษ ม. ด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือและพักงาน 7 วัน โดยไม่ได้รับค่าจ้างจึงเป็นการใช้ดุลพินิจตามที่เห็นสมควรแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีทั้งโทษตักเตือนเป็นหนังสือและพักงาน 7 วันโดยไม่ได้รับค่าจ้างก็เป็นโทษที่กำหนดไว้ในระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้อง ซึ่งเป็นโทษสถานเบากว่าโทษเลิกจ้างตามที่ผู้ร้องร้องขอ กรณีมิใช่ศาลแรงงานอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษ ม. ต่ำกว่าโทษที่กำหนดไว้ในระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน อันจะถือเป็นการลดโทษให้แก่ ม. คำสั่งของศาลแรงงานที่อนุญาตให้ลงโทษ ม. ดังกล่าว จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 52 ที่บัญญัติห้ามมิให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2540นายมนตรี พันธ์ทอง ลูกจ้างผู้ร้องซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างได้ขับรถบรรทุกน้ำมันด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ชนท้ายรถบรรทุกก๊าซของผู้ร้องซึ่งจอดอยู่ด้านหลังได้รับความเสียหายโดยเป็นการกระทำความผิดซ้ำกับการกระทำความผิดในครั้งก่อนที่นายมนตรีเคยถูกผู้ร้องลงโทษด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือและพักงานมีกำหนด 7 วันมาแล้ว เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2539 ขออนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างนายมนตรี พันธ์ทอง
ในวันนัดพิจารณา ผู้ร้องและนายมนตรี พันธ์ทอง แถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า นายมนตรีเป็นลูกจ้างของผู้ร้องในตำแหน่งพนักงานขับรถและเป็นกรรมการลูกจ้างตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปีปัจจุบันเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2539 นายมนตรีได้ขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ชนท้ายรถบรรทุกผสมปูนซิเมนต์ซึ่งแล่นอยู่ข้างหน้า เป็นเหตุให้รถของผู้ร้องเสียหาย 20,000 บาทซึ่งผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลางขออนุญาตลงโทษนายมนตรี และศาลแรงงานกลางอนุญาตให้ลงโทษนายมนตรีด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือและพักงาน 7 วัน โดยไม่ได้รับค่าจ้างผู้ร้องก็ได้ลงโทษนายมนตรีดังกล่าวตามระเบียบการลงโทษแล้วต่อมาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2540 นายมนตรีขับรถโดยถอยรถบรรทุกน้ำมันด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ชนท้ายรถบรรทุกก๊าซของผู้ร้องอีกคันหนึ่ง ทำให้รถทั้งสองคันเสียหาย3,500 บาท แล้วต่างแถลงไม่สืบพยานซึ่งศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าการที่นายมนตรีขับรถบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ย่อมมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะคาดการณ์ในการบังคับวงเลี้ยวขณะถอยหลังผิดพลาด ความผิดของนายมนตรีในกรณีดังกล่าวไม่ร้ายแรงจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษนายมนตรีด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือและพักงาน 7 วัน โดยไม่ได้รับค่าจ้าง
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ผู้ร้องอุทธรณ์ว่าผู้ร้องขอให้ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษเลิกจ้างนายมนตรี พันธ์ทอง ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้อง ซึ่งศาลแรงงานกลางชอบที่จะอนุญาตตามคำร้องของผู้ร้อง การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษนายมนตรีด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือและพักงาน 7 วันโดยไม่ได้รับค่าจ้าง อันต่ำกว่าโทษที่กำหนดไว้ในระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เป็นการที่ศาลแรงงานกลางลดโทษให้นายมนตรีโดยที่ผู้ร้องมิได้สมัครใจหรือยินยอมด้วย และอำนาจในการลดโทษให้แก่ลูกจ้างที่กระทำความผิดก็เป็นอำนาจของผู้ร้องโดยเฉพาะ จึงเป็นการสั่งเกินคำขอบังคับ ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52 นั้น เห็นว่าตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องในส่วนที่เกี่ยวกับพนักงานขับรถตามเอกสารหมาย ร.ค.2 ได้กำหนดไว้ว่าพนักงานผู้ใดฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานจะถูกพิจารณาโทษไว้ดังนี้ (1) ตักเตือนด้วยวาจาและบันทึกการตักเตือน(2) การตักเตือนเป็นหนังสือ (3) พักงาน 3 วัน โดยไม่ได้รับค่าจ้าง (4) พักงาน 7 วัน โดยไม่ได้รับค่าจ้าง และ (5) ปลดออกซึ่งการพิจารณาโทษพนักงานตามระเบียบข้อบังคับดังกล่าวต้องดูพฤติการณ์ของพนักงานที่กระทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับตามความร้ายแรงเป็นเรื่อง ๆ ไป
คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า การกระทำความผิดของนายมนตรีในครั้งก่อน ผู้ร้องได้ลงโทษไปแล้ว และการกระทำความผิดในครั้งนี้มีระยะห่างจากการกระทำความผิดครั้งก่อน 1 ปีเศษ โดยไม่ปรากฏว่าระหว่างนั้นนายมนตรีได้ขับรถประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้บุคคลภายนอกและผู้ร้องเสียหายทั้งความเสียหายที่ได้รับเพียงประมาณ 3,500 บาท เมื่อพิจารณาถึงสภาพของรถที่นายมนตรีขับและเวลาที่กระทำความผิดแล้วความผิดของนายมนตรีไม่ร้ายแรง ฉะนั้นที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษนายมนตรีด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือและพักงาน 7 วัน โดยไม่ได้รับค่าจ้าง จึงเป็นการใช้ดุลพินิจตามที่เห็นสมควรแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดี ทั้งโทษตักเตือนเป็นหนังสือและพักงาน 7 วัน โดยไม่ได้รับค่าจ้างที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตก็เป็นโทษที่กำหนดไว้ในระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องซึ่งเป็นโทษสถานเบากว่าโทษเลิกจ้างตามที่ผู้ร้องร้องขอ มิใช่เป็นกรณีอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษนายมนตรีต่ำกว่าโทษที่กำหนดไว้ในระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันถือเป็นการลดโทษให้แก่นายมนตรีดังที่ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลแรงงานกลางที่อนุญาตให้ลงโทษนายมนตรีด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือและพักงาน 7 วัน โดยไม่ได้รับค่าจ้างดังกล่าว จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52 ที่บัญญัติห้ามมิให้ศาลแรงงานพิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง คำสั่งของศาลแรงงานกลางชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share