คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2505/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้กับคดีที่ขอให้นับโทษต่อโจทก์อาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ ถ้าโจทก์ยกฟ้องและศาลสั่งให้พิจารณารวมกันศาลลงโษได้ไม่เกินกำหนดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 หากศาลมิได้สั่งให้พิจารณารวมกันและลงโทษทุกกรรมเต็มตามกำหนดในมาตราดังกล่าวทั้งสองสำนวน ศาลก็จะนับโทษต่อไม่ได้ เมื่อคดีที่ขอให้นับโทษต่อศาลจำคุก 20 ปีเต็มตามกำหนดในมาตรา91 คดีถึงที่สุดแล้ว และคดีนี้ศาลก็จำคุก 20 ปี ดังนี้ นับโทษต่อไม่ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,91, 157, 161, 162, 264, 265, 266, 268, 341 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 13 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1465/2526 ของศาลชั้นต้น ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 40,497.12 บาท แก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1465/2526 ของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 157, 161, 162, 264, 265, 266, 268, 341 เรียงกระทงลงโทษความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบปลอมและใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม ฉ้อโกง ให้ลงโทษบทหนักตามมาตรา 266 ให้จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 170 กระทงเป็นจำคุก 510 ปี ฐานฉ้อโกงอีก 1 กระทง ให้จำคุก 1 ปีคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุกจำเลย 340 ปี 8 เดือนแต่เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (2) บัญญัติว่า เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนด 20 ปี จึงให้จำคุกจำเลยมีกำหนด20 ปี ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 40,497 บาท 12 สตางค์ แก่เจ้าของส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1465/2526 หมายเลขแดงที่ 762/2527 นั้น เนื่องจากคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง จึงไม่อาจนับโทษต่อให้ได้ ให้ยกคำขอส่วนนี้
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ได้ขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโจทก์ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1465/2526 ของศาลชั้นต้น เมื่อปรากฏตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1465/2526หมายเลขแดงที่ 1762/2527 ของศาลชั้นต้น ที่โจทก์ขอให้นับโทษคดีนี้ต่อ ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องโจทก์เป็นว่าให้ลงโทษจำคุกจำเลยและศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในเวลาเดียวกันกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีนี้แต่คนละบัลลังก์กัน ทำให้โจทก์ไม่อาจยื่นคำแถลงให้ศาลชั้นต้นทราบได้ทัน จำเลยมิได้แก้อุทธรณ์ของโจทกืให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่าศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อแล้ว ต้องนับโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ต่อจากคดีดังกล่าวพิพากษาแก้เป็นให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1465/2526 หมายเลขแดงที่ 1762/2527 ของศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…คงมีปัญหาในชั้นฎีกาว่าจะนับโทษจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1762/2527ของศาลชั้นต้น ได้หรือไม่ เห็นว่าคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยคดีนี้ต่อได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว คือคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4527/2530 ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดเพชรบุรีโจทก์ จ่าสิบเอกเจริญชัย พราหมณ์น้อย จำเลย โดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา161, 266 ให้ลงโทษบทหนักตามมาตรา 266 การกระทำความผิดของจำเลยเป็นความผิดหลายกระทงรวม 71 กระทง ให้เรียงกระทงลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามมาตรา 78 คงจำคุกจำเลย 20 ปี ตามมาตรา 91 (2) คดีดังกล่าวาและคดีนี้เป็นเรื่องทุจริตเงินบำนาญพิเศษจากส่วนราชการเดียวกัน เพียงแต่อ้างชื่อผู้มีสิทธิรับบำนาญพิเศษต่างรายกัน หน่วยราชการซึ่งเป็นผู้เสียหายก็รายเดียวกัน โจทก์อ้างฟ้องจำเลยสำหรับการกระทำผิดคดีนี้และคดีที่ขอให้นับโทษคดีนี้ต่อเป็นคดีเดียวกันได้เพราะจำเลยเป็นคนเดียวกันและพยานหลักฐานน่าจะเป็นชุดเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าโจทก์แยกฟ้องจำเลยแต่ละกระทงความผิดเป็นรายสำนวนไปและศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีทุกสำนวนรวมกัน ศาลก็จะลงฌโทษจำเลยได้ไม่เกินกำหนดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เมื่อโจทก์แยกฟ้องคดีนี้กับคดีที่ขอให้นับโทษคดีนี้ต่อโดยศาลมิได้สั่งรวมการพิจารณาคดีทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกันแล้วศาลพิพากษาลงโทษจำเลยทุกกรรมโดยจำคุกจำเลยเต็มตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 91 ทั้งสองสำนวนแล้ว ศาลก็นับโทษจำเลยต่อกันไม่ได้เพราะจะทำให้จำเลยต้องรับโทษเกินกำหนดที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 บัญญัติไว้ และเมื่อปรากฏว่าคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว โดยศาลพิพากษาให้จำคุกจำเลย 20 ปี เต็มตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 91 จำเลยก็จะได้รับโทษจำคุกในคดีนั้นรวมกับโทษในคดีนี้เกินกำหนดดังกล่าวไม่ได้ เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา91…’
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่นับโทษจำคุกจำเลยคดีนี้ต่อจากโจทก์จำคุกในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และโทษจำคุกทั้งสองคดีที่จำเลยจะต้องได้รับไม่ให้เกิน 20 ปี

Share