คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2502/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 รับจ้างจำเลยที่ 2 และบุคคลอื่นล้างและเฝ้ารถ ซึ่งจอดอยู่ริมถนนที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติงานเฝ้ายามอยู่แล้ว ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ต้องทำตามคำสั่งหรืออยู่ในความควบคุมของจำเลยที่ 2 การจ้างเช่นนี้เป็นการจ้างทำของเพราะผู้ว่าจ้างต้องการแต่ผลสำเร็จของ งานคือความสะอาดและความคงอยู่ของรถ ไม่ใช่จ้างแรงงาน จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ลูกจ้างจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในการที่จำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ล้างและขับรถยนต์เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2520 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2ในทางการที่จ้างด้วยความประมาทชนรถก๋วยเตี๋ยวของโจทก์ และชนโจทก์ จึงขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่ามิได้ประมาท แต่นายไพรันผู้ขับรถสวนทางกับรถจำเลยเป็นผู้ประมาท โจทก์ได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากนายไพรันแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกจ้างขับรถยนต์ของตน ตนไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์แต่ผู้เดียว ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์นำสืบไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 ทำหน้าที่ขับรถยนต์ ข้อเท็จจริงฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ 1 รับจ้างจำเลยที่ 2 ล้างและเฝ้ารถซึ่งจอดอยู่ริมถนนจึงเจริญพาณิชย์อันเป็นที่ซึ่งจำเลยที่ 1 ปฏิบัติงานเฝ้ายามอยู่แล้วและการรับจ้างดังกล่าวนั้นได้รับจ้างบุคคลอื่น ๆ ด้วย ในการปฏิบัติงานที่รับจ้างนั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ต้องทำตามคำสั่งหรืออยู่ในความควบคุมของจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงได้ความแต่เพียงว่า เมื่อจำเลยที่ 2 มอบรถยนต์ให้จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ก็ปฏิบัติงานตามที่รับจ้างไปโดยจำเลยที่ 2 มิได้มาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด การจ้างเช่นนี้เห็นว่าเป็นการจ้างทำของ เพราะผู้ว่าจ้างต้องการแต่ผลสำเร็จของงานคือความสะอาดและความคงอยู่ของรถ มิใช่เป็นการจ้างแรงงาน จำเลยที่ 1 จึงมิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในการที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยปัญหาข้ออื่นอีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2

Share