แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การกระทำละเมิดต่อทรัพย์สินของผู้อื่น ผู้กระทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่ทำละเมิดนั้น เมื่อจำเลยกระทำละเมิดทำให้ตอม่อสะพานของโจทก์เสียหาย จำเลยก็ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในการกระทำดังกล่าวเท่านั้น โจทก์จะให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในการรื้อสะพานนั้นหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามกระทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 300,000บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย จำเลยทั้งสามให้การว่า เหตุที่เกิดขึ้นเกิดจากความประมาทของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้เงิน 50,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ตามคำเบิกความของนายโสฬส เตมียบุตร พยานโจทก์ได้ความว่า สะพานที่เกิดเหตุเป็นสะพานเก่าที่เลิกใช้มาประมาณ 15 ปี เพราะมีการสร้างสะพานใหม่ขึ้นและเป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องทุบสะพานเก่าทิ้ง โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายนั้น คดีได้ความจากคำเบิกความของนายดุสิตสุรินทรางกูร และนายโสฬสพยานโจทก์ว่า เนื่องจากสะพานที่เกิดเหตุแคบเกินไปไม่สามารถรับการจราจรที่เพิ่มขึ้น จึงมีการสร้างสะพานใหม่ และเลิกใช้สะพานที่เกิดเหตุ แต่นายดุสิตก็เบิกความว่าโจทก์ยังบำรุงรักษาสะพานแห่งนี้อยู่ ส่วนนายโสฬสก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 2 ที่ 3 ว่า ไม่เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่สร้างสะพานใหม่แล้วจะต้องรื้อสะพานเก่าเสมอไป เป็นดุลพินิจ ดังนั้น ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายเนื่องจากมีหน้าที่ต้องทุบสะพานที่เกิดเหตุทิ้งอยู่แล้ว จึงยังรับฟังเป็นความจริงไม่ได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายในการรื้อถอนสะพานที่เกิดเหตุเป็นเงิน 300,000 บาท รายละเอียดตามเอกสารหมายจ.15 นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420กำหนดให้ผู้ที่กระทำละเมิดต่อทรัพย์สินของผู้อื่นจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น ดังนั้น เมื่อจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยทำให้ตอม่อสะพานของโจทก์เสียหาย จำเลยก็ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในการกระทำดังกล่าวต่อโจทก์ โจทก์จะให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในการรื้อสะพานนั้นเป็นเงิน 300,000 บาทหาได้ไม่ แต่โดยเหตุที่ได้ความจากคำเบิกความของนายโสฬสพยานโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการตรวจสอบและประเมินความเสียหายของสะพานที่เกิดเหตุว่า หากจะซ่อมแซมความเสียหายของสะพานดังกล่าวต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 400,000บาทประกอบกับข้อเท็จจริงที่ได้ความว่า สะพานที่เกิดเหตุนี้โจทก์ได้เลิกใช้มานานเนื่องจากมีความคับแคบ โดยโจทก์ได้สร้างสะพานใหม่ขึ้นมาใช้แทนแล้ว จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน100,000 บาท ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 100,000บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 26 เมษายน 2525 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความรวม 3,000 บาท สำหรับค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี