คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2501-2504/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทางราชการได้ออกกฎหมายเวนคืนที่ดินให้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จำเลยเป็นเจ้าขอที่ดินที่ถูกเวนคืนเห็นว่าคณะกรรมการเวนคืนที่ดินกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนต่ำไปไม่เป็นธรรม จึงแต่งตั้งโจทก์ซึ่งเป็นทนายความไปตกลงเจรจากับคณะกรรมการเวนคืนที่ดิน เพื่อให้ได้ค่าทดแทนสูงขึ้นตามที่จำเลยต้องการ โดยตกลงกันว่าถ้าจำเลยได้ค่าทดแทนที่ดินเกินจำนวนราคาที่จำเลยต้องการ ส่วนที่ได้เกินยอมยกให้โจทก์ดังนี้ เป็นการที่จำเลยตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้นแก่โจทก์ เข้าลักษณะเป็นการจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 การที่ผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างแก่ผู้รับจ้างซึ่งตกลงจะไปเจรจากับคณะกรรมการเวนคืนที่ดิน เพื่อให้ได้ค่าทดแทนที่ดินสูงขึ้นตามที่ผู้ว่าจ้างต้องการ โดยกำหนดสินจ้างกันไว้ตามลักษณะดังกล่าว หาเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือขัดต่อพระราชบัญญัติทนายความแต่อย่างใดไม่ เมื่อโจทก์ได้ดำเนินการจนสำเร็จให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยย่อมต้องชำระสินจ้างตามข้อตกลงนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่สำนวนมีใจความว่า จำเลยทั้งสี่สำนวนตกลงตั้งให้โจทก์เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินตกลงราคาที่ดินที่ถูกเวนคืน เพื่อประโยชน์ในการศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับนายชมพูอนุญาโตตุลาการ ฝ่ายมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โจทก์กับนายชมพูทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการเรื่อยมาก จนในที่สุดตกลงให้ราคาที่ดินรายของจำเลยสำนวนที่หนึ่งเป็นเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยสำนวนที่สองเป็นเงิน ๔๕๐,๐๐๐ บาท จำเลยสำนวนที่สามเป็นเงิน ๖๑,๐๐๐ บาท จำเลยสำนวนที่สี่เป็นเงิน ๗๕,๐๕๐ บาท
ในการดำเนินงานทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการ จำเลยแต่ละสำนวนตกลงให้ค่าดำเนินงานแก่โจทก์รวมกันโดยคิดจากรายได้คือ จำเลยแต่ละสำนวนคิดเอาราคาที่ดินที่ถูกเวนคืนไร่ละ ๗,๐๐๐ บาท ๓,๐๐๐ บาท, ๓,๐๐๐ บาท, ๓,๐๐๐ บาท ตามลำดับ เหลือนอกนั้นจำเลยแต่ละสำนวนยอมยกให้โจทก์ทั้งหมด ที่ดินของจำเลยสำนวนที่หนึ่งที่ถูกเวนคืนมี ๓๐ ไร่ ได้ค่าชดเชยรวม ๓๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยขอคิดเอาเป็นเงินสุทธิ ๒๑๐,๐๐๐ บาท เป็นส่วนได้ของโจทก์ ๙๐,๐๐๐ บาท จำเลยสำนวนที่สองมี ๓ แปลง เนื้อที่ ๒ ไร่ ๒ งาน ๒ ตารางวา, ๑ ไร่ ๒ งาน ๖๘ ตารางวา, ๘๖ ไร่ ๓ งาน ๖๐ ตารางวา ได้ค่าชดเชยรวม ๔๕๐,๐๐๐ บาท จำเลยขอคิดเอาในราคา ๒๗๐,๐๐๐ ให้เป็นส่วนได้ของโจทก์ ๑๘๐,๐๐๐ บาท จำเลยสำนวนที่สามมี ๗ ไร่ ๓ งาน ๙๖ ตารางวา ได้ค่าชดเชยรวม ๖๑,๐๐๐ บาท จำเลยขอคิดเอา ๕๐,๕๐๐ บาท เป็นส่วนได้ของโจทก์ ๒๐,๕๐๐ บาท จำเลยสำนวนที่สี่มี ๑๙ ไร่ ๒๐ งาน ๙๗ ตารางวา ได้ค่าชดเชยรวม ๗๕,๐๕๐ บาท จำเลยขอคิดเอา ๕๙,๑๕๐ บาท เป็นส่วนได้ของโจทก์ ๑๕,๙๐๐ บาท บัดนี้จำเลยทั้งสี่สำนวนได้รับเงินแล้ว แต่ไม่ยอมชำระเงินส่วนที่ตกลงให้โจทก์ โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยเพิกเฉย เนื่องจากการทำงานของโจทก์ทำให้จำเลยได้ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นจากเจ้าหน้าที่เวนคืนกำหนดไว้เดิมเพียงไร่ละ ๑,๕๐๐ บาท สมเจตนาของจำเลย จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่สำนวนชำระเงินให้โจทก์ ๙๐,๐๐๐ บาท, ๑๘๐,๐๐๐ บาท ๒๐,๕๐๐ บาท, ๑๕,๙๐๐ บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินแก่โจทก์เสร็จ
จำเลยทั้งสี่สำนวนให้การว่า เคยตั้งให้โจทก์เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายจำเลยจริง แต่ไม่เคยตกลงเกี่ยวกับค่าจ้างในการดำเนินงานของโจทก์ตามฟ้อง การจะตอบแทนบุญคุณโจทก์นั้นเป็นเรื่องมารยาทของจำเลยที่จะต้องสมนาคุณให้บ้างตามสมควรเท่านั้น ข้อตกลงเกี่ยวกับค่าจ้างในการดำเนินงานของโจทก์ตามที่โจทก์ฟ้องนั้น ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และขัดต่อพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.๒๕๐๘ กล่าวคือ โจทก์ได้เข้ามามีส่วนได้เสียในการเรียกร้องค่าทดแทนจากทางราชการ เพื่อให้ได้ราคาที่ดินสูงขึ้นทุกวิถีทางเพื่อโจทก์จะได้รับส่วนแบ่งมากขึ้นตามไปด้วย ข้อตกลงที่โจทก์อ้างจึงตกเป็นโมฆะใช้บังคับเอากับจำเลยไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสี่สำนวน
โจทก์อุทธรณ์ทั้งสี่สำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยสำนวนที่หนึ่งชำระเงิน ๑๒,๐๐๑ บาท จำเลยสำนวนที่สองชำระเงิน ๓๖,๓๓๐ บาท จำเลยสำนวนที่สามชำระเงิน ๓,๐๙๖ บาท จำเลยสำนวนที่สี่ชำระเงิน ๗,๘๙๗ บาท แก่โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินแก่โจทก์เสร็จ ให้จำเลยทั้งสี่สำนวนร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้คิดในทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๓,๐๐๐ บาท
โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ควรได้ค่าจ้างเต็มตามฟ้องทั้งสี่สำนวน
จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ตกลงให้ค่าจ้างโจทก์ทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการตกเป็นโมฆะ และการดำเนินการของโจทก์ไม่สำเร็จเป็นประโยชน์แก่จำเลย
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕ ได้มีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๔๔ ลงวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๑๕ เวนคืนที่ดินในท้องที่ตำบลทุ่งบังและตำบลทุงกระพังโหม อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ให้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๑๕ นายอำเภอกำแพงแสนมีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.๑ แจ้งให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนได้ทราบว่า คณะกรรมการเวนคืนที่ดินได้กำหนดราคาที่ดินที่เวนคืนแตกต่างกันตามระยะทางใกล้ไกลถนนมาลัยแมนและถนนจันทรุเบกษาเป็น ๕ เขต จำเลยได้ไปพบโจทก์บอกว่าราคาที่คณะกรรมการเวนคืนที่ดินกำหนดไว้นั้น ยังไม่เป็นธรรมจึงได้ทำหนังสือแต่งตั้งให้โจทก์เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายเจ้าของที่ดิน มีอำนาจตกลงค่าทดแทนที่ดินกับมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ตามเอกสารหมาย จ.๓ และได้ตกลงกันว่า ถ้าจำเลยได้ค่าทดแทนที่ดินเกินจำนวนราคาที่จำเลยต้องการ ส่วนที่ได้เกินยอมยกให้โจทก์ เมื่อโจทก์ได้รับแต่งตั้งแล้วโจทก์ได้มีหนังสือถึงคณะกรรมการเวนคืนที่ดิน ขอให้พิจารณากำหนดราคาที่ดินเสียใหม่ตามเอกสารหมาย จ.๔ จำเลยได้ค่าทดแทนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในราคาไร่ละ ๓,๘๐๐ บาท
วินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยฎีกาว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ตกลงให้ค่าจ้างโจทก์ทำหน้าที่อนุญา-โตตุลาการตกเป็นโมฆะเพราะขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนและขัดต่อพระราชบัญญัติทนายความ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลย แท้จริงหาใช่ตั้งโจทก์เป็นอนุญาโตตุลาการเพื่อทำการชี้ขาดข้อพิพาทแต่ประการใดไม่แต่เป็นข้อตกลงจ้างให้โจทก์ไปเจรจาขอขึ้นราคาที่ดินที่ถูกเวนคืนให้สูงขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากจำเลยเห็นว่าคณะกรรมการเวนคืนที่ดินกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนต่ำไปไม่เป็นธรรม จำเลยต้องการได้ค่าทดแทนที่ดินสูงขึ้น จึงแต่งตั้งให้โจทก์ไปตกลงเจรจากับคณะกรรมการเวนคืนที่ดิน เพื่อให้ได้ค่าทดแทนสูงขึ้นตามที่จำเลยต้องการ ซึ่งโจทก์ก็ตกลงรับจะไปดำเนินการจนสำเร็จให้แก่จำเลยตามที่จำเลยต้องการ ข้อที่จำเลยตกลงว่าถ้าจำเลยได้ค่าทดแทนที่ดินเกินจำนวนราคาที่จำเลยต้องการ ส่วนที่ได้เกินยอมยกให้โจทก์นั้น ก็เป็นการที่จำเลยตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น เข้าลักษณะเป็นจ้างทำของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๗ การที่ผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างแก่ผู้รับจ้างซึ่งตกลงรับจะไปตกลงเจรจากับคณะกรรมการเวนคืนที่ดิน เพื่อให้ได้ค่าทดแทนที่ดินสูงขึ้นตามที่ผู้ว่าจ้างต้องการ โดยได้กำหนดสินจ้างกันไว้ตามลักษณะดังกล่าว หาเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือขัดต่อพระราชบัญญัติทนายความแต่อย่างใดไม่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ตกลงให้ค่าจ้างโจทก์ไม่ตกเป็นโมฆะนั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share