คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1684/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ขุดลอกหนองน้ำสาธารณะเฉพาะบางส่วนเพื่อใช้น้ำและดักปลา โดยปลาเข้ามาในหนองในฤดูน้ำหลาก แล้วติดอยู่กับหนองส่วนที่โจทก์ขุดลอกออกไปไหนไม่ได้ในฤดูน้ำลด เช่นนี้ แม้ปลาจะออกจากหนองไม่ได้ในฤดูน้ำลด ปลาก็ยังไม่เป็นของโจทก์จำเลยจับปลาในหนอง จึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 32/2513)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกลักปลาไปจากบ่อล่อปลาของโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 83

เมื่อศาลไต่สวนมูลฟ้องและสั่งประทับฟ้องแล้ว คงทำการพิจารณาเฉพาะจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 7 ที่ 8 และที่ 9 ส่วนจำเลยอื่น โจทก์ถอนฟ้อง และศาลจำหน่ายคดีเพราะโจทก์ทิ้งฟ้อง

จำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 7 ที่ 8 และที่ 9 ให้การปฏิเสธโดยต่อสู้ว่าจำเลยจับปลาในหนองน้ำสาธารณะ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งห้าคนนี้จับปลาในหนองโดยขาดเจตนาทุจริต พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งห้าจับหลาในหนองสาธารณะซึ่งโจทก์ได้ปกครองอยู่ จำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 7 ที่ 8 มีเจตนาทุจริต จึงมีความผิดส่วนจำเลยที่ 9 เป็นคนมาจากที่อื่น ไม่มีเจตนาทุจริต พิพากษาแก้ให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 7 ที่ 8 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ให้จำคุกคนละ 3 เดือน แต่ให้รอการลงโทษไว้ภายในกำหนด 1 ปี

จำเลยที่ 2 และที่ 7 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ แล้วมีมติว่า หนองน้ำมาบทองที่โจทก์ฟ้องเป็นหนองน้ำสาธารณะ ปลาเข้ามาในหนองตามธรรมชาติโจทก์เพียงแต่ขุดลอกหนองกว้างยาวด้านละ 10 วา แม้โจทก์อาจมีเจตนาให้ปลาตกอยู่ในหนองในฤดูน้ำลดก็ตาม แต่โจทก์มิได้ขุดเป็นบ่อต่างหากหรือกั้นเขตเป็นสัดส่วน ปลายังอยู่ในหนองได้โดยอิสระ จะถือว่าปลาเป็นของโจทก์ยังไม่ได้ การที่จำเลยที่ 2 และที่ 7 จับปลาในหนองสาธารณะจึงไม่มีความผิด และกรณีนี้เป็นเหตุในลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 4 ที่ 8 จะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องตลอดไปถึงจำเลยที่ 4 ที่ 8 ด้วยได้

พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 7 ที่ 8 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share