แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ฟังความเบื้องต้นต่างกัน แต่ในที่สุดศาลเดิมและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยอาศัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่ได้กระทำผิดดังข้อที่โจทก์กล่าวหา ดังนี้ โจทก์จะฎีกาไม่ได้ ต้องห้ามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219
ย่อยาว
คดี 2 สำนวนนี้เป็นเรื่องเดียวกัน ศาลชั้นต้นได้พิจารณาพิพากษารวมกันมา
โจทก์ฟ้องหาว่า จำเลยยักยอกทรัพย์ของนางเสงี่ยมโจทก์ ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 314
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยฟังข้อเท็จจริงว่า ทรัพย์ที่หาว่าจำเลยยักยอกเป็นของจำเลยเอง
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ทรัพย์ที่หาว่ายักยอกเดิมเป็นของจำเลยจริง เนื่องจากจำเลยเอาไปขายฝากไว้กับพระยาอธิกรณ์ ๆ แล้วไม่ได้ไถ่คืนในกำหนด ของหลุดเป็นสิทธิแก่พระยาอธิกรณ์ ๆ ยกให้นางเสงี่ยม โจทก์ จึงถือว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์รายนี้ แต่ภายหลังนางเสงี่ยมคืนทรัพย์ รายนี้ให้แก่จำเลยไปเด็ดขาดโดยเจตนาเพียงแต่ให้จำเลยเอาเงินมาชำระมูลหนี้เดิม 30,000 บาทแต่อย่างเดียวเท่านั้น จำเลยจะเอาทรัพย์นั้นไปขายหรือทำอะไรก็ตามหาใช่เรื่องยักยอกไม่ จึงพิพากษายืน
อัยการและนางเสงี่ยมฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เรื่องนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังความเบื้องต้นต่างกันอยู่ก็จริง แต่ในที่สุดศาลเดิมศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยอาศัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่ได้กระทำผิดดังข้อที่โจทก์กล่าวหา เมื่อเป็นเช่นนี้โจทก์จะฎีกาไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 219 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
พิพากษาให้ยกฎีกาอัยการและนางเสงี่ยมโจทก์