คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 250/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เช็คพิพาทเป็นเช็คออกให้แก่ผู้ถือ ผู้ทรงคนเดิม มีสิทธิโอนต่อให้บุคคลอื่นได้และย่อมโอนให้แก่กันได้โดยการส่งมอบ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 918ประกอบมาตรา 989 เมื่อโจทก์เป็นผู้รับโอนเช็คพิพาทโดยการส่งมอบ โจทก์ย่อมเป็นผู้ครอบครองเช็คในฐานเป็นผู้รับเงินโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบตามมาตรา 904 และมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ผู้สั่งจ่ายให้รับผิดใช้เงินตามเช็คพิพาทได้ เช็คพิพาทนั้นไม่ปรากฏข้อความในเช็คว่าจำเลยที่ 2ได้เขียนระบุว่าได้กระทำการแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ทั้งจำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 อีกด้วย แม้จำเลยที่ 2 ประทับตราของจำเลยที่ 1ในเช็คพิพาท แต่จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจกระทำแทนจำเลยที่ 1 ได้กรณีจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล และถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาท ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทโดยมิได้เขียนแถลงว่ากระทำแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ย่อมต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 901

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)สาขาช่องนนทรี ลงวันที่ 13 มกราคม 2538 จำนวนเงิน 125,650 บาทซึ่งจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกเช็ค และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย เพื่อชำระหนี้ให้แก่ผู้มีชื่อ และโจทก์ได้รับโอนเช็คมาโดยชอบเมื่อเช็คถึงกำหนด โจทก์นำไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ต้องเสียหายเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินตามเช็ค คิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 9,346 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 134,996 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 125,650 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ให้แก่ร้านสุวิทย์การค้า โจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงเช็คขณะออกเช็คพิพาทจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1เป็นการกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 134,996บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 125,650บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนายสมศักดิ์ ลีลาศ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทซึ่งเป็นเช็คผู้ถือโดยไม่ได้ระบุว่ากระทำการแทนจำเลยที่ 1 แล้วนำมาชำระหนี้ค่าซื้อไม้ให้แก่นางสาววิไล เมฆแสงสวย ซึ่งเป็นเจ้าของร้านสุวิทย์การค้าและเป็นบุตรสาวโจทก์ นางสาววิไลส่งมอบเช็คพิพาทแก่โจทก์ โจทก์นำเช็คพิพาทไปเข้าบัญชีของโจทก์เพื่อเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2538 ให้เหตุผลว่า ยังรอเรียกเก็บเงินอยู่โปรดนำมายื่นใหม่
จำเลยที่ 2 ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายข้อแรกว่า โจทก์ไม่เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทจึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเช็คพิพาทเป็นเช็คออกให้แก่ผู้ถือผู้ทรงคนเดิมมีสิทธิโอนต่อให้บุคคลอื่นได้และย่อมโอนให้แก่กันได้โดยการส่งมอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 918 ประกอบมาตรา 989เมื่อโจทก์เป็นผู้รับโอนเช็คพิพาทมาโดยการส่งมอบโจทก์ย่อมเป็นผู้ครอบครองเช็คในฐานเป็นผู้รับเงิน โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 904 และมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ผู้สั่งจ่ายให้รับผิดใช้เงินตามเช็คพิพาทได้
จำเลยที่ 2 ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายข้อสุดท้ายว่า จำเลยที่ 2ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นส่วนตัวนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเช็คพิพาทนั้นไม่ปรากฏข้อความในเช็คว่าจำเลยที่ 2 ได้เขียนระบุว่าได้กระทำการแทนจำเลยที่ 1 ทั้งจำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 อีกด้วย แม้จำเลยที่ 2 ประทับตราของจำเลยที่ 1 ในเช็คพิพาท แต่จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจกระทำแทนจำเลยที่ 1 ได้กรณีจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลและถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็น ผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทโดยมิได้เขียนแถลงว่ากระทำแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ย่อมต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คพิพาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 900 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 901
พิพากษายืน

Share