คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 250/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 2 ฆ่าผู้ตาย แต่โจทก์กล่าวในฟ้องว่าจำเลยที่ 1ที่ 2 เป็นผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกัน เป็นการแตกต่างกันในสาระสำคัญตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192วรรคสอง ลงโทษทั้งสองฐานนี้ไม่ได้ แต่การที่จำเลยที่ 1 ร้องสั่งให้จำเลยที่ 2 ทำร้ายผู้ตายเป็นการยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นกระทำความผิด เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ด้วย ศาลจึงมีอำนาจลงโทษฐานผู้สนับสนุนได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้มีดดาบยาวประมาณ 18นิ้ว ฟันศีรษะนายสมนึก จารุไพโรจน์ โดยมีเจตนาฆ่า เป็นเหตุให้นายสมนึกถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันซ่อนเร้นศพของผู้ตายเพื่อปิดบังการตายและเหตุแห่งการตายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 199, 83, 91และริบของกลาง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 288 กระทงหนึ่ง และมาตรา 83, 199 อีกกระทงหนึ่งจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 199ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานฆ่าผู้อื่น จำคุกตลอดชีวิตและลงโทษจำเลยทั้งสองฐานซ่อนเร้นศพเพื่อปิดบังการตายจำคุกคนละ 1 ปีคำรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ 34 ปี จำเลยที่ 2 ต้องขังพอแก่โทษแล้วให้ปล่อยตัวไปริบของกลางคำขออื่นให้ยกเสีย จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,199, 91 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามมาตรา 288 จำคุกตลอดชีวิต ตามมาตรา 199 จำคุก 1 ปีจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีมาก อันเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุกจำเลยที่ 1ไว้มีกำหนด 25 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ นอกจากจะมีนายประยงค์ ทองประเสริฐ ซึ่งมีบ้านอยู่คนละฝั่งคลองกับจำเลยที่ 1 มาเบิกความว่า ได้ยินเสียงดังโพละที่บ้านจำเลยที่ 1จึงหันไปดู เห็นผู้ตายนั่งขัดสมาธิก้มหน้าเอาศอกชันเข่า และเห็นจำเลยที่ 1 เดินวนอยู่ข้างหน้าผู้ตาย แล้วเห็นจำเลยทั้งสองช่วยกันลากผู้ตายออกจากบ้านไปพยานโจทก์ปากสำคัญอีกปากหนึ่งคือพันตำรวจโทสุรศักดิ์ ศานุจารย์ พนักงานสอบสวนคดีนี้มาเบิกความยืนยันว่า พยานเป็นผู้สอบสวนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพพยานจึงบันทึกถ้อยคำของจำเลยที่ 1 ไว้ จำเลยที่ 1 ได้นำชี้ที่เกิดเหตุให้ถ่ายภาพไว้ประกอบคำรับสารภาพด้วยตามเอกสารหมาย จ.24 และ จ.23 ปรากฏว่า พันตำรวจโทสุรศักดิ์ได้บันทึกคำให้การของจำเลยที่ 1 ไว้ตอนหนึ่งว่า “…ผู้ตายมีอาการมึนเมาสุรามาก เดินเข้ามานั่งร่วมวงสุราของจำเลยที่ 1 ผู้ตายพูดจากวนประสาทและท้าทายจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และนายสมบูรณ์หลายครั้ง จึงเกิดทะเลาะวิวาทกันขึ้น ผู้ตายด่าแม่จำเลยที่ 1 และให้ของลับอย่างหยาบคายนายสมบูรณ์กับจำเลยที่ 2 ไม่พอใจผู้ตาย จำเลยที่ 2 พูดว่า “มึงมาด่าพ่อกูทำไม”จำเลยที่ 1 จึงพูดกับจำเลยที่ 2 ว่า ไอ้ตึ๋งใส่เลย ทันใดนั้นจำเลยที่ 2 ก็ลุกขึ้นยืนถือมีดดาบอยู่ในมือขวาแล้วฟันลงไปที่ศีรษะของผู้ตาย…” คำให้การของจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวนดังกล่าวนี้เชื่อว่าพันตำรวจโทสุรศักดิ์ได้บันทึกไปตามคำบอกเล่าของจำเลยที่ 1 มิได้คิดแต่งเรื่องราวขึ้นเองแล้วบันทึกลงไปและไม่มีเหตุผลที่พันตำรวจโทสุรศักดิ์จะทำไปเช่นนั้น เมื่อฟังประกอบพยานหลักฐานอื่น ๆ ของโจทก์ด้วยแล้วรูปคดีมีเหตุผลให้เชื่อได้โดยปราศจากความสงสัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร้องสั่งให้จำเลยที่ 2 ทำร้ายผู้ตาย ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่านายสมบูรณ์เป็นคนฟันผู้ตายนั้น เห็นว่า เหตุคดีนี้เกิดขึ้นที่นอกชานบ้านของจำเลยที่ 1 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ก็อยู่ในที่เกิดเหตุด้วย และจะต้องได้ยินเสียงทะเลาะโต้เถียงกันว่าเป็นเรื่องอะไร และจะต้องเห็นเหตุการณ์โดยตลอดเพราะนอกชานบ้านที่เกิดเหตุก็ไม่กว้างนัก แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้เบิกความถึงรายละเอียดของเหตุการณ์ว่าเหตุใดนายสมบูรณ์จึงโกรธผู้ตายถึงขนาดต้องฟันผู้ตาย และไม่เบิกความว่านายสมบูรณ์เอามีดของกลางมาจากไหนจึงฟันผู้ตายได้ คำเบิกความของจำเลยที่ 1จึงเป็นคำเบิกความที่ปิดบังความจริงบางตอนไว้ ไม่สมเหตุสมผลไม่มีน้ำหนักในการรับฟังเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ตายถูกฟันทำร้ายจนถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นฆ่าผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84ดังนี้จะลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายไม่ได้เพราะข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ก่อให้ผู้อื่นกระทำผิด แต่โจทก์กล่าวในฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกัน เป็นการแตกต่างกันในสาระสำคัญตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง แต่การที่จำเลยที่ 1 ร้องสั่งให้จำเลยที่ 2 ทำร้ายผู้ตายเป็นการยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นกระทำความผิดเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ด้วยซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 86, 53 จำคุก 33 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 1ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 16 ปี 8 เดือน รวมโทษจำคุกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 199 อีก 6 เดือน เป็นจำคุกทั้งสิ้น 16 ปี 14 เดือนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share