แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.พ.พ. มาตรา 1488 หมายความว่าตราบใดที่ศาลยังไม่ได้พิพากษาว่า การสมรสเป็นโมฆะหรือโมฆียะ การสมรสที่จดทะเบียนแล้วย่อมสมบูรณ์อยู่เสมอ ส่วนมาตรา 1445 (3) (4) เป็นแต่เพียงเหตุที่จะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่าการสมรสที่ได้จดทะเบียนแล้วเป็นโมฆะ หาใช่เหตุที่แสดงในตัวเองว่า การสมรสเป็นโมฆะไม่
โจทก์เป็นภริยาของนายถนอมอยู่ตั้งแต่ พ.ศ. 2480 โดยจดทะเบียนสมรสกัน แม้ต่อมานายถนอมจะได้ตายไป แล้วโจทก์มาได้เสียกับนายธรรมอีก ภายหลังใช้ ป.พ.พ. บรรพ 5 แล้วการได้เสียกันดังนี้ ไม่ทำให้โจทก์เป็นภริยานายธรรม โจทก์จึงไม่ใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายธรรมในเวลาที่นายธรรมถึงแก่ความตาย
ย่อยาว
ได้ความว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ โจทก์ได้จดทะเบียนสมรสกับนายถนอม จนนายถนอมตาย แล้วโจทก์มาได้เสียกับนายธรรมอีกในภายหลังที่ใช้ ป.พ.พ. บรรพ ๕ แล้ว โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ส่วนจำเลยสมรสกับนายธรรมก่อน ป.พ.พ. บรรพ ๕ ใช้บังคับ จำเลยเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายธรรม
โจทก์มาฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า โจทก์ในฐานะภริยาและทายาทโดยธรรม มีสิทธิได้รับบำนาญตกทอดของนายธรรมผู้เดียว
ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลทั้งสองให้ยกฟ้องโจทก์
ข้อวินิจฉัยของศาลฎีกามีว่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๘๘ หมายความว่า ตราบใดที่ศาลยังไม่ได้พิพากษาว่าการสมรส เป็นโมฆะหรือโมฆียะ การสมรสที่จดทะเบียนแล้วย่อมสมบูรณ์อยู่เสมอ และก็ไม่มีประเด็นในคดีนี้ที่จะวินิจฉัยเลยไปถึงว่า การจดเบียนระหว่างโจทก์และนายถนอมใช้ไม่ได้ด้วยประการใด แม้จะมี ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๔๕ (๓) (๔) ก็ดี แต่ก็เป็นเพียงเหตุที่จะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่าการสมรสที่จดทะเบียนแล้วเป็นโมฆะ หาใช่เหตุที่แสดงในตัวเองว่า การสมรสเป็นโมฆะไม่ และก็เมื่อยังไม่มีการที่ศาลได้แสดงว่า การจดทะเบียนสมรสนั้นเป็นโมฆะ ก็ต้องถือเอาการจดทะเบียนเป็นใหญ่ตาม มาตรา ๑๔๘๘ เมื่อโจทก์เป็นภริยาของนายถนอมอยู่ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๐ แม้นายถนอมจะได้ตายไปแล้วโจทก์มาได้เสียกับนายธรรมอีกหลังจากบังคับใช้ ป.พ.พ. บรรพ ๕ แล้ว การได้เสียกันดังนี้ ไม่ทำให้โจทก์เป็นภริยานายธรรม โจทก์จึงไม่ใช่ภริยาของนายธรรมในเวลาที่นายธรรมถึงแก่ความตาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิจะได้รับบำนาญตกทอด