คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2499/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้สัญญาจ้างมีข้อความให้สิทธิผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาได้โดยผู้รับจ้างไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าตอบแทนแต่ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นข้อสัญญาที่ผิดแผกแตกต่างไปจากประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ที่กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างซึ่งเป็นบทบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์ในอันที่จะก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ลูกจ้าง อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่อาจใช้บังคับแก่การจ่ายค่าชดเชย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน 135,000 บาท เงินโบนัสจำนวน23,333 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 3,500 บาทและค่าชดเชยจำนวน 45,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ตามสัญญาจ้าง จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตลอดเวลา โจทก์ยอมรับค่าจ้างเดือนสิงหาคม 2536 และเงินพิเศษซึ่งจำเลยนำเงินเข้าบัญชีให้โจทก์แล้วรวมเป็นเงิน 29,331 บาทโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย เพราะมีข้อตกลงให้เลิกจ้างได้และไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเพราะไม่มีข้อตกลงดังกล่าวกับจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน30,000 บาท แก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่า ข้อตกลงตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.1 เป็นข้อสัญญาซึ่งคู่กรณีสามารถตกลงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 ซึ่งข้อสัญญาระบุไว้โดยแจ้งชัดว่า หากผู้ว่าจ้างเลิกจ้างผู้รับจ้างไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าตอบแทนใด ๆ จากผู้ว่าจ้างได้อีกเมื่อจำเลยใช้สิทธิเลิกจ้างโดยชอบโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยจากจำเลยได้ คดีจึงมีปัญหาในชั้นนี้เพียงว่า จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในอันที่จะก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ลูกจ้าง เป็นการคุ้มครองและอำนวยประโยชน์แก่ลูกจ้าง จึงเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ดังนั้น แม้สัญญาจ้างเอกสารหมาย ล.1 จะมีข้อความว่าผู้ว่าจ้างมีสิทธิจะบอกเลิกสัญญาว่าจ้างนี้ต่อผู้รับจ้างได้ตลอดเวลาหากเห็นว่าผู้รับจ้างหมดความจำเป็นที่จะให้ปฏิบัติหน้าที่การงานหรือด้วยเหตุอื่น ผู้รับจ้างไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าตอบแทนใด ๆ จากผู้ว่าจ้างได้ก็ตาม แต่ข้อสัญญาดังกล่าวก็ผิดแผกแตกต่างไปจากประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงไม่อาจบังคับใช้แก่การจ่ายค่าชดเชยอันเป็นหน้าที่ของจำเลยผู้เป็นนายจ้างตามบทกฎหมายข้างต้นได้ ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share