คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2498/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะมีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียวมาเบิกความแต่ผู้เสียหายก็เบิกความยืนยันข้อเท็จจริงชัดเจนเป็นขั้นเป็นตอนสอดคล้องต้องกันอย่างมีเหตุมีผล ผู้เสียหายกับจำเลยเป็นคนตำบลเดียวกัน เคยเห็นหน้ากันบ่อยครั้งเพียงแต่ไม่เคยพูดคุยกัน สถานที่เกิดเหตุก็เป็นริมถนนที่โล่งแจ้งในเวลากลางวัน จำเลยไม่มีอุปกรณ์ใดปกปิดหรืออำพรางใบหน้าประกอบกับขณะที่จำเลยลงจากรถจะมาเก็บเอาสร้อยคอทองคำที่ตกอยู่ริมถนนได้มีการพูดโต้ตอบกับผู้เสียหายอยู่ชั่วขณะหนึ่ง ผู้เสียหายมีโอกาสมองเห็นและจดจำรูปร่างหน้าตากันได้ ส่วนที่จำเลยนำสืบต่อสู้คดีโดยอ้างฐานที่อยู่นั้น นอกจากจะไม่มีเหตุผลในการรับฟังแล้วยังไม่น่าเชื่อ ไม่อาจรับฟังเพื่อหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ จึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายผู้เสียหายยืนยันว่าได้รับบาดเจ็บที่แขนทั้งสองข้าง หัวเข่า และใบหน้าถลอกมีโลหิตไหล แม้ผลการตรวจชันสูตรบาดแผลไม่ระบุว่ามีโลหิตไหลหรือไม่ก็อาจจะเป็นเพราะแพทย์ตรวจภายหลังเกิดเหตุถึง 2 วันก็เป็นได้ จากบาดแผลดังกล่าวถือได้ว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสามแล้ว
การที่จำเลยนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มากระทำการชิงทรัพย์จนได้ทรัพย์ไปเรียบร้อย โดยพวกของจำเลยติดเครื่องรถจักรยานยนต์รออยู่แล้วจำเลยได้เดินไปขึ้นนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวหลบหนีไปนั้น แสดงว่าจำเลยมีเจตนาที่จะใช้รถจักรยานยนต์ที่พวกของจำเลยติดเครื่องรออยู่นั้นเป็นยานพาหนะในการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์เพื่อพาทรัพย์นั้นไปและหลบหนีเพื่อให้พ้นจากการจับกุมการกระทำของจำเลยจึงเป็นการชิงทรัพย์โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม, 340 ตรี, 83 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย จำนวน 12,500 บาท

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี, 83 ให้ลงโทษจำคุก 15 ปีกับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 12,500 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ มีคนร้ายชิงทรัพย์ผู้เสียหายไปตามฟ้องคดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยเป็นคนร้ายรายนี้หรือไม่โจทก์มีนางสาววิภา จันทร์ตรี ผู้เสียหายเบิกความว่าเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม2539 เวลาประมาณ 17 นาฬิกา ขณะที่ผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์กลับบ้านไปตามถนนสายอยุธยา-อ่างทอง ถึงบริเวณเกิดเหตุหมู่ที่ 3ตำบลบางเสด็จ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง บริเวณดังกล่าวเป็นทางแยกผู้เสียหายจะเลี้ยวขวาไปทางศาลร่วมใจซึ่งเป็นที่พักคนเดินทาง ผู้เสียหายดูกระจกมองหลังก็เห็นรถจักรยานยนต์สีดำขับตามหลังมา โดยมีชายคนหนึ่งเป็นคนขับ ชายอีกคนหนึ่งนั่งซ้อนท้าย ผู้เสียหายจึงชะลอความเร็วรถและขับรถไปทางด้านซ้ายเพื่อต้องการให้รถจักรยานยนต์ของชายทั้งสองแซงขึ้นหน้าไปแต่รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวไม่ยอมแซง กลับขับตีคู่รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย จำเลยซึ่งนั่งซ้อนท้ายได้ถีบรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายพร้อมกับกระตุกสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายทางด้านหลังด้วยทำให้รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายล้มลง ผู้เสียหายกระเด็นออกไปจากรถและมองไปที่รถจักรยานยนต์ของจำเลยที่จอดอยู่ห่างกันประมาณ 10 เมตรคนร้ายที่ทำหน้าที่ขับรถจักรยานยนต์ยังคงนั่งคร่อมอยู่บนรถ ส่วนจำเลยเดินลงมาบริเวณริมถนนลักษณะมองหาสิ่งของ ผู้เสียหายลุกขึ้นยืนอยู่บนไหล่ทาง ต่อมาทั้งจำเลยและผู้เสียหายต่างมองเห็นสร้อยคอทองคำที่ถูกกระชากตกอยู่ที่ริมถนนห่างจากผู้เสียหายประมาณ 1 เมตร ผู้เสียหายพูดขึ้นว่า “สร้อยคอเรานะ” แต่จำเลยหันมามองผู้เสียหายพร้อมกับพูดว่า”เดี๋ยวยิงหัวเลย” แล้วก้มลงเก็บเอาสร้อยคอทองคำนั้นและรีบเดินไปนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่จอดรถอยู่ ผู้เสียหายตกใจออกวิ่งไล่และตะโกนให้คนช่วย มีคนที่อยู่ที่ศาลาร่วมใจวิ่งมาช่วยผู้เสียหายแต่ไม่ทันทรัพย์ที่ถูกชิงไปมีสร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท 1 เส้น และพระถ้ำเสือเลี่ยมทองคำหนัก 2 สลึง 1 องค์ รวมราคา 12,500 บาท ตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายเอกสารหมาย จ.2 ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บ ที่ใบหน้าถลอกแขนขวาและหัวเข่ามีเลือดไหลทั้งสามแผล แต่บาดแผลตรงแขนขวาหนักที่สุด แพทย์ลงความเห็นว่าจะต้องใช้เวลาในการรักษาประมาณ1 สัปดาห์ ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารหมาย จ.3ต่อมาผู้เสียหายได้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นแก่น้าชายซึ่งเป็นกำนันตำบลบางเสด็จทราบ และออกติดตามหาตัวจำเลยเพื่อทราบชื่อและที่อยู่ให้แน่ชัดจนเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2539 ผู้เสียหายพบจำเลยอยู่ที่ป้อมยามของห้างหุ้นส่วนจำกัดพรเกษมซึ่งรับเหมาก่อสร้างถนนสายอยุธยา-อ่างทองจึงชี้ให้สิบตำรวจเอกมนตรี มั่งมี จับกุมตัว ชั้นจับกุมและสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ ตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.4 และบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.5 เห็นว่า แม้โจทก์จะมีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียวมาเบิกความเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว แต่ผู้เสียหายก็เบิกความได้ข้อเท็จจริงชัดเจนเป็นขั้นเป็นตอนสอดคล้องต้องกันอย่างมีเหตุมีผลผู้เสียหายกับจำเลยเป็นชาวตำบลบางเสด็จด้วยกันเคยเห็นหน้ากันบ่อยครั้งเพียงแต่ไม่เคยพูดคุยกัน สถานที่เกิดเหตุก็เป็นริมถนนที่โล่งแจ้งในเวลากลางวัน จำเลยไม่มีอุปกรณ์ใดปกปิดหรืออำพรางใบหน้า ประกอบกับขณะที่จำเลยลงจากรถจะมาเก็บเอาสร้อยคอทองคำที่ตกอยู่ริมถนนได้มีการพูดโต้ตอบกับผู้เสียหายอยู่ชั่วขณะหนึ่ง ผู้เสียหายมีโอกาสมองเห็นและจดจำรูปร่างหน้าตากันได้ ดังนั้นที่ผู้เสียหายยืนยันตลอดมาว่าสามารถจดจำจำเลยได้จึงน่าเชื่อ ดังจะเห็นว่าผู้เสียหายได้สืบเสาะจนรู้ว่าจำเลยทำงานเป็นยามรักษาการณ์อยู่ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดพรเกษมจึงชี้ให้สิบตำรวจเอกมนตรีจับกุมตัวได้อย่างไม่มีการลังเล ส่วนที่จำเลยนำสืบต่อสู้คดีโดยอ้างฐานที่อยู่นั้น นอกจากจะไม่มีเหตุผลในการรับฟังแล้วยังไม่น่าเชื่อไม่อาจรับฟังเพื่อหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ข้อเท็จจริงจึงฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยเป็นคนร้ายรายนี้ ที่จำเลยฎีกาว่า ผู้เสียหายเพียงมีบาดแผลถลอกยังถือไม่ได้ว่าเป็นบาดแผลถึงกับเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม แต่เป็นเพียงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 เท่านั้น เห็นว่า จากการกระทำครั้งนี้ผู้เสียหายยืนยันว่าได้รับบาดเจ็บที่แขนทั้งสองข้าง หัวเข่าและใบหน้าถลอกมีโลหิตไหล แต่ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลไม่ระบุว่ามีโลหิตไหลหรือไม่ อาจจะเป็นเพราะแพทย์ตรวจภายหลังเกิดเหตุถึง 2 วัน ก็เป็นได้และจากบาดแผลดังกล่าวถือได้แล้วว่า ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม แล้ว และที่จำเลยฎีกาอีกว่า เมื่อคนร้ายถีบรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายและกระตุกสร้อยคอทองคำผู้เสียหายนั้น สายสร้อยขาดตกลงสู่พื้นดินห่างจากผู้เสียหาย 1 เมตร ห่างจากคนร้าย 10 เมตร จึงถือได้ว่าทรัพย์นั้นยังคงอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหาย การลักทรัพย์ยังไม่สำเร็จต่อเมื่อคนร้ายเดินมาหยิบเอาสร้อยคอทองคำไปแล้วจึงถือว่าคนร้ายลักทรัพย์สำเร็จ การกระทำของคนร้ายในตอนนี้ไม่ได้ใช้ยานพาหนะแต่เป็นการเดินมาลักทรัพย์ เมื่อคนร้ายหยิบสร้อยคอทองคำแล้วได้เดินไปขึ้นรถจักรยานยนต์ก็เป็นการพาทรัพย์ไปโดยการเดินหลังจากนั้นคนร้ายได้ขึ้นรถจักรยานยนต์เดินทางต่อไปตามปกติของตน เพราะก่อนเกิดเหตุคนร้ายก็เดินทางโดยใช้รถจักรยานยนต์อยู่แล้ว การกระทำของคนร้ายจึงมิใช่เป็นการใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะเพื่อการกระทำความผิดนั้น เห็นว่า การที่จำเลยนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มากระทำการชิงทรัพย์จนได้ทรัพย์ไปเรียบร้อย โดยพวกของจำเลยติดเครื่องรถจักรยานยนต์รออยู่แล้ว จำเลยได้เดินไปขึ้นนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวหลบหนีไปนั้นแสดงว่าจำเลยมีเจตนาที่จะใช้รถจักรยานยนต์ที่พวกของจำเลยติดเครื่องรออยู่นั้นเป็นยานพาหนะในการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์เพื่อพาทรัพย์นั้นไปและหลบหนีเพื่อให้พ้นจากการจับกุมการกระทำของจำเลยจึงเป็นการชิงทรัพย์โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยต้องกันมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share