คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2498/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่าที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกของบิดาจำเลยทั้งสองซึ่งตกทอดแก่จำเลยทั้งสอง ดังนี้ แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์หมดสิทธิฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองเพราะไม่ได้ฟ้องภายใน 1 ปี คดีก็ไม่มีประเด็นเรื่องการแย่งการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง เพราะการแย่งการครอบครองนั้น จำเลยทั้งสองต้องยอมรับก่อนว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์แต่จำเลยทั้งสองแย่งการครอบครองมา เมื่อคดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการแย่งการครอบครอง การที่ศาลชั้นต้นหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง เป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ 246, 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายมา ให้จำเลยทั้งสองส่งมอบ ส.ค. 1 ดังกล่าวให้แก่โจทก์ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายมาเพื่อโจทก์จะนำไปแบ่งแก่ทายาท และห้ามจำเลยทั้งสองกระทำการใด ๆ อันเป็นการขัดขวางการแบ่งปันทรัพย์มรดก หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา นางบุญเลิศ นางนุสรณ์ นายอัมพร นางบังอร นายถาวร นายยุทธนา ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมศาลชั้นต้นอนุญาต โดยให้เรียกผู้ร้องทั้งหกว่าจำเลยร่วมที่ 1 ถึงที่ 6 ตามลำดับ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์ ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนั้นให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า นายพรมมาบิดาของจำเลยทั้งสองขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทับที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายมา ต่อมานายพรมมาถึงแก่ความตาย จำเลยทั้งสองไม่ยอมให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกเข้าแบ่งที่ดิน ขอให้ศาลเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ และพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายมา ห้ามจำเลยทั้งสองขัดขวางการแบ่งทรัพย์มรดก จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายพรมมาตกทอดแก่จำเลยทั้งสอง โจทก์นำคดีมาฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่วันถูกโต้แย้งสิทธิจึงขาดอายุความ ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นพิพาทข้อ 3 ว่า โจทก์หมดสิทธิฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองเพราะไม่ได้ฟ้องภายใน 1 ปี หรือไม่ คดีก็ไม่มีประเด็นเรื่องแย่งการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง เพราะจำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่าที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายพรมมาบิดาจำเลยทั้งสองซึ่งตกทอดแก่จำเลยทั้งสองผู้เป็นบุตร การแย่งการครอบครองต้องยอมรับก่อนว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์แต่จำเลยทั้งสองแย่งการครอบครองมา เมื่อคดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับแย่งการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง การที่ศาลชั้นต้นหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง เป็นการไม่ชอบ ซึ่งปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247… ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายมาและต้องฟังว่านายพรมมาครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคน ทั้งไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปออกใบจอง (น.ส. 2) และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) การออกใบจอง (น.ส. 2) และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ดังกล่าวจึงไม่ชอบ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับว่า ที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายมา ให้เพิกถอนใบจอง (น.ส. 2) เลขที่ 316 และเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2182 ให้จำเลยทั้งสองส่งมอบ ส.ค. 1 เลขที่ 266 แก่โจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมทั้งหกขัดขวางการแบ่งปันมรดกของโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

Share