แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้เสียหายตกลงเลิกคดีกับจำเลย โดยจำเลยจะนำเงินมาชำระให้แก่ผู้เสียหาย แล้วผู้เสียหายจึงจะถอนคำร้องทุกข์ การที่จำเลยจะต้องชำระเงินให้แก่ผู้เสียหายเป็นเงื่อนไขในการถอนคำร้องทุกข์ เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขโดยไม่ชำระเงินให้ครบถ้วนตามที่ตกลง จึงมีผลว่าผู้เสียหายไม่ผูกพันที่จะต้องถอนคำร้องทุกข์ และผู้เสียหายมีสิทธิยกเลิกข้อตกลงที่ได้ทำมาแล้วเสียได้ คดียังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงนายประดิษฐ์ผู้เสียหายโดยทุจริตว่าจะจัดส่งผู้เสียหายไปทำงานต่างประเทศ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงมอบเงินตามที่จำเลยกับพวกเรียกร้อง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑, ๘๓ และคืนเงินแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย ให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ผู้เสียหายยอมความกับจำเลยแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับ ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาในชั้นฎีกาว่า ผู้เสียหายไม่ยอมความกับจำเลยอันมีผลให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๒ ซึ่งเป็นการบันทึกคำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวน แผ่นที่ ๒ ตอนท้ายมีข้อความว่า วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๒๖ เวลา ๑๕.๑๕ นาฬิกา ผู้เสียหายมาพบพนักงานสอบสวนให้การว่า มาเพื่อถอนคำร้องทุกข์ไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีกับนางสมบูรร์ ไชยสิจ (จำเลย) จึงได้ขอถอนคำร้องทุกข์ไปแล้วแต่เวลานี้มีลายมือชื่อผู้เสียหายและพนักงานสอบสวนไว้ในบันทึกดังกล่าว แต่บันทึกนี้มีการขีดฆ่าและพนักงานสอบสวนลงลายมือชื่อกำกับไว้ และร้อยตำรวจโทโชติ ตระกูล พนักงานสอบสวนเบิกความว่า เหตุที่มีการขีดฆ่าข้อความออกเพราะหลังจากจับจำเลยได้และให้ประกันตัวไป จำเลยและผู้เสียหายบอกว่าตกลงกันได้ โดยจำเลยจะนำเงินมามอบให้ผู้เสียหายในวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๒๖ ที่สถานีตำรวจ ครั้นถึงวันนัดดังกล่าวพยานเข้าใจว่า จำเลยจะนำเงินมามอบให้ผู้เสียหาย แต่ปรากฏว่าจำเลยนำเงินมามอบให้ผู้เสียหาย ๑๐,๐๐๐ บาท แต่ผู้เสียหายไม่ยอมรับ คดีจึงตกลงกันไม่ได้ พยานจึงขีดฆ่าข้อความนั้นเสีย ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้เสียหายตกลงเลิกคดีกับจำเลย โดยจำเลยจะนำเงินมาชำระให้แก่ผู้เสียหาย แล้วผู้เสียหายจึงจะถอนคำร้องทุกข์ การที่จำเลยจะต้องชำระเงินให้แก่ผู้เสียหายเป็นเงื่อนไขในการถอนคำร้องทุกข์ เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขโดยไม่ชำระเงินให้ครบถ้วนตามที่ตกลง จึงมีผลว่าผู้เสียหายไม่ผูกพันที่จะต้องถอนคำร้องทุกข์ และผู้เสียหายมีสิทธิยกเลิกข้อตกลงที่ได้ทำมาแล้วเสียได้ คดียังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ (๒) ที่จะทำให้คดีระงับไป ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่ามีสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น แต่เนื่องจากศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยในปัญหาว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ จึงย้อนสำนวนไปให้ศาลอทุธรณ์ดำเนินการพิจารณาวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้วพิพากษาใหม่
พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี