แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คำพิพากษาตามยอมที่คู่ความมีสิทธิอุทธรณ์นั้นต้องเป็นไปตามป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง เมื่อข้ออ้างในอุทธรณ์ของจำเลยไม่มีข้อความใด ๆ ที่แสดงให้เห็นว่า ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าวการที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยตามที่จำเลยอุทธรณ์จึงไม่ชอบและจำเลยไม่อาจฎีกาได้ตามมาตรา 249 วรรคแรก.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันส่งมอบรถยนต์ตามฟ้องคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากส่งคืนไม่ได้ก็ให้ชดใช้ราคา 117,400 บาท แก่โจทก์กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหาย 60,500 บาท แก่โจทก์ และค่าเสียหายเดือนละ 5,550 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยได้ส่งมอบรถคืนหรือใช้ราคาแก่โจทก์แล้วเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า สัญญาเช่าซื้อที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้ไม่ผูกพันจำเลย และเนื่องจากเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดจำเลยจึงไม่ต้องคืนรถยนต์และค่าเสียหายแก่โจทก์ตามฟ้อง และฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ
ก่อนสืบพยานคู่ความตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า โจทก์ฉ้อฉล ขอให้มีคำพิพากษาเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความ และสั่งให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีใหม่
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138วรรคสอง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาเช่นว่านั้น เว้นแต่เหตุต่อไปนี้ (1) เมื่อมีข้อกล่าวอ้างว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉล…” จำเลยอุทธรณ์ว่าหลังจากมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว จำเลยติดต่อขอสมุดคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์ เพื่อนำไปดำเนินการต่อทะเบียนรถยนต์ต่อเจ้าพนักงานทะเบียนยานพาหนะโจทก์ไม่ยอมให้อ้างว่าต้องให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความก่อน เมื่อถึงกำหนดต่อทะเบียนจำเลยจึงไม่สามารถต่อทะเบียนรถยนต์คันพิพาทได้ ทำให้จำเลยประสบความยุ่งยากในการใช้รถยนต์ การที่โจทก์บอกปัดไม่ยอมส่งมอบคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์ให้จำเลยเป็นการแสดงให้เห็นถึงการที่โจทก์ทำการฉ้อฉลให้จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้ออ้างในอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวนี้ไม่มีข้ออ้างใดที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์หลอกลวงหรือปิดบังข้อเท็จจริงใดเพื่อให้จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่จะทำให้เห็นว่าสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นเกิดโดยการฉ้อฉลของโจทก์ อันเป็นเหตุที่จะอุทธรณ์ได้ตามบทกฎหมายที่ได้กล่าวข้างต้น ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยตามที่จำเลยอุทธรณ์จึงเป็นการไม่ชอบ และจำเลยไม่อาจจะฎีกาต่อมาได้ตามนัยของมาตรา 249 วรรคแรก แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และยกฎีกาจำเลยทั้งสอง.