คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2496/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จะได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยให้เจ้าหนี้มีสิทธิเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทน้ำตาล บ.จำกัด จำนวน 3,000 หุ้น มูลค่าเป็นเงิน 3,000,000 บาท เพื่อแลกเปลี่ยนกับการโอนสิทธิเรียกร้องและระงับหนี้ซึ่งลูกหนี้สั่งจ่ายเช็คไว้ตามสัญญากู้ก็ตาม แต่ปรากฏว่าไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาตรา 1119 นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางไม่จดทะเบียนให้ จึงไม่มีผลบังคับ หนี้เดิมของเจ้าหนี้จึงยังไม่ระงับสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ตามเช็คของลูกหนี้ ย่อมไม่โดยไปยังบริษัทน้ำตาล บ.จำกัด เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้รายนี้ได้

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลจังหวัดระยอง มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยลูกหนี้เด็ดขาดเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๑ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๔ บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล ทรัสต์ แอนด์ ไฟแนนซ์ จำกัด ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยตามสัญญากู้เป็นเงิน ๓,๘๐๔,๖๕๗.๕๒ บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกัน
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ให้บรรดาเจ้าหนี้ ลูกหนี้ ตรวจคำขอรับชำระหนี้รายนี้แล้ว เจ้าหนี้รายที่ ๖ ที่ ๘ โต้แย้งว่า หนี้ดังกล่าวไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องและหนี้ดังกล่าวมีการประนีประนอมระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยโอนสิทธิเรียกร้องในฐานะเจ้าหนี้ให้แก่เจ้าหนี้รายที่ ๖ (บริษัทน้ำตาลระยอง จำกัด) เรียบร้อยแล้ว ขอให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วทำความเห็นว่า ลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้แล้วต่อมาได้ทำความตกลงเรื่องหนี้สิน โดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ทำการแปลงหนี้ใหม่ สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อลูกหนี้จึงระงับไปตามสัญญา เอกสารหมาย จ.๙ และ ต.๑ เป็นเหตุให้หนี้เดิมระงับ ลูกหนี้หลุดพ้นมิต้องรับผิดในหนี้เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๔๙, ๓๕๐ เจ้าหนี้จึงขอรับชำระหนี้ตามมูลหนี้เดิมไม่ได้ ไม่มีสิทธิจะได้รับชำระหนี้ควรยกคำขอรับชำระหนี้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้
เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ได้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทบ้านค่ายอุตสาหกรรมจำกัด ลูกหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ลูกหนี้ได้ทำสัญญากู้เงินเจ้าหนี้ ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามเอกสารหมาย จ.๒ และได้รับเงินดังกล่าวไปครบถ้วนแล้ว ในการนี้ลูกหนี้ได้ออกเช็คลงวันที่ล่วงหน้าให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เพื่อเป็นการชำระหนี้ตามเอกสารหมาย จ.๓ ถึง จ.๕ และเอกสารหมาย ต.๒ ถึง ต.๔ ปรากฏหว่าเจ้าหนี้รับเงินตามเช็คไม่ได้ ต่อมาเจ้าหนี้ตกลงกับลูกหนี้และบริษัทน้ำตาลระยอง จำกัด บุคคลภายนอกกับเจ้าหนี้รายอื่นๆ แล้วทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับลูกหนี้ โดยให้เจ้าหนี้มีสิทธิเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทน้ำตาลระยอง จำกัด จำนวน ๓,๐๐๐ หุ้น มูลค่าเป็นเงิน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อแลกเปลี่ยนกับการโอนสิทธิเรียกร้องและระงับหนี้ตามเช็คซึ่งลูกหนี้สั่งจ่ายไว้ตามสัญญากู้ ตามเอกสาร จ.๙ และ ต.๑ ปรากฏว่าหลังจากที่บริษัทน้ำตาลระยอง จำกัด ได้ขอจดทะเบียนเพิ่มทุนของบริษัทอีก ๖๐ ล้านบาท แบ่งหุ้นออกเป็น ๖๐,๐๐๐ บาท โดยจัดสรรให้แก่เจ้าหนี้ของลูกหนี้รายนี้ ๓,๐๐๐ หุ้น ปรากฏว่านายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางไม่ยอมรับจดทะเบียนให้เพราะเอาหนี้ (สิทธิเรียกร้อง) มาลงทุนแทนเงินไม่ได้ เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ลูกหนี้จึงจัดการให้เจ้าหนี้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทน้ำตาลระยอง จำกัด ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องหนี้ตามเช็คของเจ้าหนี้ไม่ได้ เจ้าหนี้จึงยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้รายนี้
ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งให้บริษัทน้ำตาลระยอง จำกัด (เจ้าหนี้รายที่ ๖) ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้เต็มตามจำนวนที่ขอซึ่งรวมถึงเช็คจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาทดังกล่าวด้วย ซึ่งหากให้เจ้าหนี้รายนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ก็จะกลายเป็นว่าลูกหนี้ต้องรับผิดชดใช้สองครั้งนั้นศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้จะได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยให้เจ้าหนี้มีสิทธิเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทน้ำตาลระยอง จำกัด จำนวน ๓,๐๐๐ หุ้น มูลค่าเป็นเงิน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อแลกเปลี่ยนกับการโอนสิทธิเรียกร้องและระงับหนี้ ซึ่งลูกหนี้สั่งจ่ายเช็คไว้ตามสัญญากู้ก็ตาม แต่ปรากฏว่าไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแก่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๙ นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางไม่จดทะเบียนให้จึงไม่มีผลบังคับ หนี้เดิมของเจ้าหนี้จึงยังไม่ระงับ สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ตามเช็คของลูกหนี้ ย่อมไม่โอนไปยังบริษัทน้ำตาลระยอง จำกัด เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้รายนี้ได้
พิพากษายืน

Share