คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2490/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 เป็นกฎหมายพิเศษได้แสดงเจตนารมณ์ไว้ในเบื้องต้นว่า เพื่อให้การใช้แรงงานเป็นไปโดยเหมาะสมและแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างให้เป็นไปโดยวิธีปรองดองและเป็นธรรมข้อ 4(4) ให้มีคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เพื่อทำหน้าที่ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานและวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำซึ่งกระทรวงมหาดไทยจะได้กำหนดว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม และตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการแรงงานสัมพันธ์ฯ “ข้อพิพาทแรงงาน” หมายความว่าข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเกี่ยวกับสภาพการจ้าง”สภาพการจ้าง” หมายความว่า เงื่อนไขการจ้างหรือการทำงานกำหนดวันและเวลาทำงาน ค่าจ้าง สวัสดิการ การเลิกจ้าง หรือประโยชน์อื่นของนายจ้างหรือลูกจ้างอันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงาน ดังนั้น เมื่อลูกจ้างขอขึ้นเงินเดือนร้อยละ 10 โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างขอขึ้นให้ร้อยละ 7 จึงมีข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้นซึ่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ย่อมมีอำนาจชี้ขาดได้
แม้ตามสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับลูกจ้างมิได้มีข้อสัญญาไว้ว่าโจทก์จะต้องขึ้นเงินเดือนให้แก่ลูกจ้างทุกระยะเท่าใดและอัตราเท่าใด ก็มิได้หมายความว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงค่าจ้างไม่ได้ ทั้งตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการแรงงานสัมพันธ์ฯข้อ 4 มีความว่า เมื่อนายจ้างลูกจ้างประสงค์จะให้แก้ไขเพิ่มเติมสภาพการจ้างก็ให้แจ้งแก่อีกฝ่ายหนึ่ง แสดงว่าสภาพการจ้างย่อมเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งการที่โจทก์เสนอขอขึ้นค่าจ้างให้ร้อยละ 7 ก็แสดงว่าโจทก์พร้อมที่จะเปลี่ยนสภาพการจ้างเหมือนกัน การที่จำเลยซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาดและสั่งให้โจทก์ขึ้นเงินเดือนลูกจ้างเพิ่มขึ้นจากที่โจทก์เสนออีกร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 8 จึงหาเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายไม่
การจัดหาบ้านพักให้ลูกจ้าง หรือจ่ายเงินค่าเช่าบ้านให้ลูกจ้าง ถือได้ว่าเป็นสวัสดิการหรือประโยชน์อื่นของลูกจ้างอยู่ในความหมายของ “สภาพการจ้าง” เมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นย่อมถือว่าเป็นข้อพิพาทแรงงาน ซึ่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจชี้ขาดได้ การที่จำเลยซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้นำสัญญาเช่าโรงกลั่นน้ำมันระหว่างโจทก์กับกระทรวงกลาโหม และการจ่ายค่าเช่าบ้านของบริษัทกลั่นน้ำมันแห่งอื่นมาพิจารณาด้วย ก็เพื่อประกอบดุลพินิจในการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานเท่านั้น ไม่มีเหตุที่จะกล่าวได้ว่า คำชี้ขาดของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้มีคำชี้ขาดโดยจำเลยที่ 1ถึงที่ 11 ลงนามในคำสั่งดังกล่าว ให้โจทก์จ่ายเงินเดือนประจำปี 2518 ให้ลูกจ้างในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 8 ของเงินเดือน และให้โจทก์จ่ายค่าเช่าบ้านให้ลูกจ้างในอัตราร้อยละ 15 ของค่าจ้าง คำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้จำเลยออกคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าว หากไม่ปฏิบัติตามขอให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยให้การว่า คำชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 เป็นกฎหมายพิเศษ แสดงเจตนารมณ์ไว้ในเบื้องต้นว่า การให้ความคุ้มครองแรงงานแก่ลูกจ้างและการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการสร้างสรรความเจริญก้าวหน้าของประเทศ สมควรปรับปรุงส่งเสริมให้สอดคล้องกับการพัฒนาทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของประเทศเพื่อให้การใช้แรงงานเป็นไปโดยเหมาะสมและการแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างได้เป็นไปโดยวิธีปรองดองและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายข้อ 4 ของประกาศดังกล่าวให้กระทรวงมหาดไทยมีอำนาจกำหนดการแรงงานสัมพันธ์ดังต่อไปนี้ ฯลฯ (4) ให้มีคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เพื่อทำหน้าที่ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานและวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำซึ่งกระทรวงมหาดไทยจะได้กำหนดว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการแรงงานสัมพันธ์ ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 4 และข้อ 14 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 “ข้อพิพาทแรงงาน” หมายความว่า ข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเกี่ยวกับสภาพการจ้าง “สภาพการจ้าง” หมายความว่า เงื่อนไขการจ้างหรือการทำงานกำหนดวันและเวลาทำงานค่าจ้าง สวัสดิการ การเลิกจ้างหรือประโยชน์อื่นของนายจ้างหรือลูกจ้างอันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงาน บทกฎหมายมีอยู่ดังกล่าว และโจทก์รับว่าการที่จำเลยชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานนี้นั้น ลูกจ้างขอขึ้นเงินเดือนร้อยละ 10 โจทก์เสนอขอขึ้นให้ร้อยละ 7 และจำเลยชี้ขาดให้ร้อยละ 8 เมื่อมีข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้นเช่นนี้ จำเลยซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ย่อมมีอำนาจชี้ขาดได้ แม้จำเลยจะรับว่าตามสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับลูกจ้างของโจทก์มิได้มีข้อสัญญาไว้ว่า โจทก์จะต้องขึ้นเงินเดือนให้แก่ลูกจ้างทุกระยะเท่าใด และอัตราเท่าใด ก็ไม่หมายความว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขค่าจ้างไม่ได้ทั้งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าวข้างต้นข้อ 4 มีความว่า “เมื่อนายจ้างหรือลูกจ้างประสงค์จะเรียกร้องให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงหรือกำหนดข้อตกลงใหม่เกี่ยวกับสภาพการจ้างในทางที่จะเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายที่เรียกร้อง ให้แจ้งข้อเรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ” แสดงว่าสภาพการจ้างย่อมเปลี่ยนแปลงได้ การที่โจทก์เสนอขอขึ้นค่าจ้างให้ร้อยละ 7 ก็เป็นการยอมรับว่าโจทก์เองก็พร้อมที่จะเปลี่ยนสภาพการจ้างเหมือนกันเป็นแต่ไม่อาจตกลงกับลูกจ้างในเรื่องจำนวนค่าจ้างที่จะขึ้น การที่จำเลยชี้ขาดและสั่งให้โจทก์ขึ้นเงินเดือนลูกจ้างเพิ่มขึ้นจากที่โจทก์เสนออีกร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 8 จึงหาเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายที่โจทก์อ้างไม่ และกรณีนี้มิใช่จะปรับด้วยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ข้อ 2 ตามที่โจทก์ฎีกา

ข้อต่อมาโจทก์ฎีกาว่า โจทก์มิได้ผิดสัญญาเช่าโรงกลั่นน้ำมันของกระทรวงกลาโหมในเรื่องการสร้างบ้านพักและสัญญาจ้างมิได้ระบุว่าโจทก์จะต้องสร้างบ้านพักให้แก่ลูกจ้างของโจทก์ ทั้งโรงกลั่นน้ำมันก็ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร การที่จำเลยชี้ขาดให้โจทก์ต้องจ่ายค่าเช่าบ้านให้แก่ลูกจ้างของโจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินเดือนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลฎีกาเห็นว่า การจัดหาบ้านพักให้ลูกจ้างหรือจ่ายเงินค่าเช่าบ้านให้ลูกจ้างถือได้ว่าเป็นสวัสดิการหรือประโยชน์อื่นของลูกจ้างอันอยู่ในความหมายของคำว่า “สภาพการจ้าง” ดังกล่าวข้างต้น เมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นในเรื่องนี้ย่อมถือว่าเป็นข้อพิพาทแรงงานอันจำเลยซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจชี้ขาดได้ การที่จำเลยพิจารณาสัญญาเช่าโรงกลั่นน้ำมันระหว่างโจทก์ผู้เป็นนายจ้างกับกระทรวงกลาโหมก็ดี พิจารณาการจ่ายค่าเช่าบ้านของบริษัทเอสโซ่สแตนดาร์ด (ประเทศไทย) จำกัดก็ดี ก็เพื่อประกอบดุลพินิจการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน ไม่มีเหตุอันจะพึงกล่าวได้ว่า คำชี้ขาดของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share