คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2486/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ประกาศรับสมัครคนงานไปทำงานในต่างประเทศจนผู้เสียหายกลุ่มหนึ่งรวม 7 คนหลงเชื่อไปสมัครเพื่อทำงาน ตามที่จำเลยประกาศจำเลยกับพวกรับเงินผู้เสียหายไว้เป็นจำนวนมาก แต่ผู้เสียหายไม่ได้ไปทำงานยังต่างประเทศตามที่ จำเลยกับพวกประกาศชักชวน ดังนี้การกระทำของจำเลยที่1 ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 โดยทุจริตหลอกลวงประชาชนรวม ทั้งผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ และโดยการหลอกลวงได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้เสียหายจำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันหลอกลวงประชาชนด้วยการประกาศและโฆษณาทั่วไปแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า จำเลยเป็นตัวแทนบริษัทพี.เอส.เยเนอเรล บิวลีเนสส์ จำกัด กำลังรับสมัครคนงานจำนวนมากเพื่อไปทำงานในประเทศจอร์แดน โดยทางบริษัทจะมีเงินเดือนให้แก่ผู้ทำงานคนละเดือนละ ๖,๐๐๐ บาท และค่าทำงานล่วงเวลาอีกรวมทั้งหมดจะได้รับคนละเดือนละ๑๐,๐๐๐ บาท ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อมอบเงินให้แก่จำเลยกับพวกรวม ๒๘๘,๒๐๐ บาท ดังมีรายละเอียดตามบัญชีท้ายฟ้อง ทั้งนี้ จำเลยกับพวกไม่พาผู้เสียหายไปทำงานที่ประเทศจอร์แดน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑, ๓๔๓, ๘๓ ริบของกลาง และให้จำเลยใช้เงินแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๓, ๘๓ จำคุกคนละ ๑ ปี ริบของกลาง และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่ผู้เสียหายตามบัญชีรายชื่อท้ายฟ้องเป็นเงินทั้งสิ้น ๒๘๘,๒๐๐ บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ ๒ ขอถอนฎีกาศาลฎีกาอนุญาตให้ถอนได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายในฎีกาของจำเลยที่ ๑ ตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับมีว่า ศาลล่างทั้งสองนำข้อเท็จจริงมาปรับบทมาตรา ๓๔๓ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ลงโทษจำเลยที่ ๑ ไม่ชอบ เพราะจำเลยที่ ๑ ไม่ได้กระทำการอันครบองค์ประกอบความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนว่าจำเลยที่ ๑ ประกาศรับสมัครคนงานไปทำงานในต่างประเทศจนผู้เสียหายกลุ่มหนึ่งรวม ๗ คนหลงเชื่อไปสมัครเพื่อทำงานตามที่จำเลยประกาศ มีการแนะนำให้ผู้เสียหายไปซื้อตั๋วแลกเงินพาไปแลกเงินตามตั๋วแลกเงินและรับเงินของผู้เสียหายไว้เป็นจำนวนมากตามที่ปรากฏในบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้อง แต่เมื่อผู้เสียหายไม่ได้ไปทำงานยังต่างประเทศตามที่จำเลยกับพวกร่วมกันประกาศชักชวน เมื่อผู้เสียหายขอเงินคืนจำเลยที่ ๑ กับพวกพูดบ่ายเบี่ยงไม่ยอมคืนให้ ดังนี้ การกระทำของจำเลยที่ ๑ ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ ๑ โดยทุจริตหลอกลวงประชาชนรวมทั้งผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและโดยการหลอกลวงดังกล่าวนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้เสียหายผู้ถูกหลอกลวง จำเลยที่ ๑ จึงมีความผิดตามมาตรา ๓๔๓ แห่งประมวลกฎหมายอาญา
พิพากษายืน

Share