แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ที่ดินพิพาทเดิมเป็นของมารดาโจทก์และบิดาจำเลยถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน มีบ้านปลูกอยู่ 6 หลัง รวมทั้งบ้านโจทก์และบ้านจำเลยต่อมาโจทก์ได้ฟ้องผู้จัดการมรดกของบิดาจำเลยขอแบ่งแยกที่ดินแปลงดังกล่าว แล้วตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยแบ่งที่ดินกันฝ่ายละครึ่ง เมื่อมีการรังวัดที่ดินเพื่อแบ่งแยกโฉนดปรากฏว่าบ้านของจำเลยที่ปลูกสร้างมากว่า 50 ปีแล้ว อยู่ในเขตที่ดินโจทก์ประมาณ 18 ตารางวา เช่นนี้ กรณีไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้ จึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 มาใช้บังคับ โดยอาศัยเทียบกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งคือมาตรา 1312วรรคหนึ่ง เมื่อบ้านของจำเลยปลูกล้ำอยู่ในที่ดินของโจทก์ โดยเจ้าของเดิมเป็นผู้ปลูกสร้าง มิใช่จำเลยปลูกสร้าง ทั้งโจทก์และจำเลยต่างรับโอนที่ดินและบ้านอีกทอดหนึ่ง ถือได้ว่าการรุกล้ำเป็นมาโดยสุจริต โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยรื้อถอนบ้านรุกล้ำ คงมีสิทธิเรียกค่าใช้ที่ดินเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าเดิมโจทก์ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 8088ตำบลบางเลน อำเภอบางใหญ่ (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี ร่วมกับนางเผือด อ่อนละมูล ผู้จัดการมรดกของนายเปียก มีมุ้ย บิดาจำเลย โจทก์และทายาทของนายเปียกได้ปลูกบ้านเรือนอาศัยร่วมกันอยู่ในที่ดังกล่าว ต่อมาโจทก์ได้ฟ้องนางเผือดในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเปียกขอให้แบ่งแยกที่ดินและได้ทำสัญญายอมแบ่งกรรมสิทธิ์ร่วมกันออกคนละครึ่ง เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดแบ่งแยกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 158315 ของโจทก์เนื้อที่ 1 งาน 91 ตารางวาส่วนของนางเผือดผู้จัดการมรดกของนายเปียกได้โฉนดเดิมเนื้อที่เท่ากัน หลังจากแบ่งแยกแล้วปรากฏว่าบ้านจำเลยอยู่ในเขตที่ดินโฉนดของโจทก์ประมาณ 18 ตารางวา โจทก์จึงแจ้งให้จำเลยรื้อถอน จำเลยไม่รื้อ ขอบังคับให้จำเลยรื้อถอนบ้านของจำเลยออกจากที่พิพาท และใช้ค่าเสียหายเดือนละ 1,000 บาท
จำเลยให้การว่า บ้านนายเปียกปลูกมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าของจำเลยเป็นมรดกตกทอดมายังจำเลย จำเลยจึงอาศัยอยู่ต่อมา ในการทำสัญญายอมแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมโจทก์ได้รังวัดไว้โดยมิได้แก้ปัญหาบ้านที่อยู่อาศัยซึ่งมีมาแต่เดิม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ตามที่โจทก์และจำเลยนำสืบตรงกันและไม่โต้เถียงกันว่า เดิมที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 8088 ตำบลบางเลนอำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี ซึ่งนางเจิมมารดาโจทก์และนายเปียกบิดาจำเลยถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน มีบ้านปลูกอยู่ 6 หลัง รวมทั้งบ้านโจทก์และบ้านจำเลย ต่อมาโจทก์ได้ฟ้องนางเผือดซึ่งเป็นน้องสาวจำเลยและเป็นผู้จัดการมรดกของนายเปียกขอแบ่งแยกที่ดินแปลงดังกล่าว แล้วตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งที่ดินแปลงดังกล่าวฝ่ายละครึ่ง โจทก์ได้ที่ดินด้านทิศเหนือ นางเผือดได้ที่ดินด้านทิศใต้ โจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินแบ่งแยกโฉนด ที่ดินที่โจทก์ได้รับแบ่งตามโฉนดเลขที่ 158314 อำเภอบางใหญ่ (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 ปรากฏว่าบ้านของจำเลยซึ่งปลูกมากว่า 50 ปีแล้ว อยู่ในเขตที่ดินของโจทก์เนื้อที่ประมาณ 18 ตารางวา คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาว่าการรังวัดแบ่งแยกที่พิพาทระหว่างโจทก์กับนางเผือดเป็นไปโดยสุจริต โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 158315 โดยชอบ และมีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านของจำเลยส่วนที่รุกล้ำออกจากที่ดินของโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่ากรณีตามข้อเท็จจริงแห่งคดีนี้ไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้ เมื่อเป็นช่องว่างแห่งกฎหมาย ดังนี้จึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 มาใช้ คือเมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง สำหรับกรณีนี้ก็ไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นที่จะยกมาปรับคดีได้ ฉะนั้นจึงต้องอาศัยเทียบกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งสำหรับคดีนี้ก็คือมาตรา 1312 วรรคแรก แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่บ้านเลขที่ 3 หมู่ที่ 3 ของจำเลยปลูกล้ำอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 158315ของโจทก์ นายเปียกเจ้าของเดิมเป็นผู้ปลูกสร้างมิใช่จำเลยปลูกสร้าง ทั้งโจทก์และจำเลยต่างรับโอนที่ดินและบ้านมาอีกทอดหนึ่งถือได้ว่าการรุกล้ำดังกล่าวเป็นมาโดยสุจริต จะให้จำเลยรื้อถอนไปหาชอบด้วยความยุติธรรมไม่ เพราะแม้แต่จำเลยเป็นผู้ปลูกสร้างรุกล้ำเข้าไปโดยสุจริต โจทก์ก็ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยรื้อถอนคงมีแต่สิทธิเรียกค่าใช้ที่ดินเท่านั้น แต่โจทก์มิได้ฟ้องขอให้บังคับเช่นนั้น คงฟ้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ1,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนบ้านออกไป ซึ่งศาลไม่อาจบังคับให้ได้ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า กรณีของโจทก์และจำเลยคดีนี้ต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1310 นั้น เห็นว่ามาตรา 1310 เป็นกรณีที่ปลูกสร้างโรงเรือนลงในที่ดินของผู้อื่นทั้งหลัง ส่วนกรณีนี้เป็นการปลูกสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นเพียงบางส่วน จึงต้องปรับบทมาตรา 1312 ส่วนคำพิพากษาฎีกาที่โจทก์อ้างมานั้นข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ เมื่อได้วินิจฉัยดังกล่าวมาแล้วจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่น ๆ ของโจทก์อีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน