แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อ ป.พ.พ. มาตรา 653 บังคับให้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้กู้ จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้โดยมิได้บังคับผู้ให้กู้ต้องลงลายมือชื่อด้วย ดังนั้น แม้สัญญากู้เงินจะเป็นนิติกรรมสองฝ่าย แต่ก็เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเมื่อจำเลยลงลายมือชื่อผู้กู้แล้ว โจทก์หรือผู้แทนโจทก์มิได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ให้กู้ สัญญากู้ก็ฟ้องร้องบังคับคดีได้ไม่เป็นโมฆะ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญากู้เงินกับโจทก์และรับเงินที่กู้ไปจากโจทก์แล้ว จำเลยผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ไม่ได้กู้เงินโจทก์และไม่ได้รับเงินกู้ไปจากโจทก์ โจทก์หลอกลวงให้จำเลยลงลายมือชื่อในแบบฟอร์มสัญญากู้แล้วโจทก์นำไปกรอกข้อความเอาเอง จึงเป็นโมฆะ ทั้งโจทก์หรือตัวแทนโจทก์ไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า พิเคราะห์แล้ว จำเลยฎีกาว่าสัญญากู้เป็นนิติกรรมสองฝ่าย แต่ลงลายมือชื่อผู้กู้ฝ่ายเดียวโจทก์หรือผู้แทนโจทก์มิได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ให้กู้ สัญญากู้จึงเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653 บัญญัติว่า “การกู้เงินเกินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไปนั้นถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่” เห็นได้ว่ากฎหมายบังคับให้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้กู้ จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้กฎหมายมิได้บังคับให้ผู้ให้กู้ต้องลงลายมือชื่อด้วย แม้สัญญากู้เงินจะเป็นนิติกรรมสองฝ่าย แต่ก็เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม เมื่อจำเลยลงลายมือชื่อผู้กู้แล้วย่อมฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามบทมาตราดังกล่าว
พิพากษายืน.