คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2482/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีในศาลชั้นต้นและเป็นผู้ลงชื่อในคำพิพากษาด้วยได้มีคำสั่งในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงว่า”รับเป็นอุทธรณ์ของโจทก์” เพียงเท่านี้ไม่มีข้อความอื่นใดที่พอจะให้เข้าใจได้ว่าเป็นการอนุญาตให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ตรี จึงฟังไม่ได้ว่าได้มีการอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 242 มาใช้บังคับในการพิจารณาคดีอาญาได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏในชั้นศาลอุทธรณ์ว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ ศาลอุทธรณ์ย่อมไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อเท็จจริงของโจทก์ได้
เอกสารที่ทนายจำเลยใช้ถามค้านพยานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง พยานโจทก์ได้ตรวจดูและรับรองความถูกต้องบางส่วน ทั้งเป็นเอกสารราชการที่มีเจ้าหน้าที่รับรองความถูกต้องแล้ว จำเลยมีอำนาจที่จะส่งศาลประกอบการถามค้านได้ ไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่จำเลยนำพยานเข้าสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ดังนี้ ศาลย่อมรับฟังประกอบการพิจารณาได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๘๔,๘๖, ๑๓๗, ๑๗๒, ๑๗๓
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาว่าที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อเท็จจริงของโจทก์โดยอ้างว่าต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๙๓ ทวิ ไม่ถูกต้องเพราะผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีนี้ในศาลชั้นต้นและเป็นผู้ลงชื่อในคำพิพากษาด้วยสั่งว่า “รับเป็นอุทธรณ์ของโจทก์” ซึ่งมีผลเท่ากับอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงแล้วตาม มาตรา ๑๙๓ ตรี ศาลอุทธรณ์ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงของโจทก์นั้น เห็นว่า มาตรา ๑๙๓ ตรี บัญญัติว่า”ในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา ๑๙๓ ทวิ ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้น พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์ และอนุญาตให้อุทธรณ์ก็ให้รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาต่อไป” ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำสั่งของศาลชั้นต้นซึ่งสั่งในคำฟ้องอุทธรณ์ “รับเป็นอุทธรณ์ของโจทก์” เพียงเท่านี้ไม่มีข้อความอื่นใดที่พอจะให้เข้าใจว่าเป็นการอนุญาตให้อุทธรณ์ตามมาตรา ๑๙๓ ตรี จึงฟังไม่ได้ว่าผู้พิพากษาที่พิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ที่โจทก์ฎีกาว่าเมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์แล้วศาลอุทธรณ์ต้องวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในอุทธรณ์ของโจทก์ เพราะผู้มีสิทธิรับอุทธรณ์หรือไม่อยู่ที่ศาลชั้นต้นไม่ใช่ศาลอุทธรณ์นั้นเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๔๒ บัญญัติว่า “เมื่อศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนความเสร็จแล้ว ให้ศาลอุทธรณ์ชี้ขาดตัดสินอุทธรณ์ประการหนึ่งประการใดในสี่ประการนี้ (๑) ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าอุทธรณ์นั้นต้องห้ามตามกฎหมายก็ให้ยกอุทธรณ์นั้นเสียโดยไม่ต้องวินิจฉัยในประเด็นแห่งอุทธรณ์ ฯลฯ” ซึ่งบทบัญญัติในทำนองดังยกขึ้นอ้างนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๒ มาใช้บังคับในการพิจารณาคดีอาญาได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏในศาลอุทธรณ์ว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๙๓ ทวิ และไม่ได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์ได้ตาม มาตรา ๑๙๓ ตรี ศาลอุทธรณ์ย่อมไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อเท็จจริงของโจทก์ได้
โจทก์ฎีกาข้อสุดท้ายว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ศาลชั้นต้นมีอำนาจรับฟังพยานเอกสารหมาย ล.๑ ที่จำเลยอ้างเป็นพยานประกอบการพิจารณาในชั้นไต่สวนมูลฟ้องไม่ชอบนั้น คดีมีปัญหาว่าเอกสารหมาย ล.๑ เป็นพยานที่จำเลยนำเข้าสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อโจทก์นำนายประสิทธิ์เข้าสืบ ทนายโจทก์ซักถามพยานปากนี้เบิกความถึงเรื่องที่จำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ ๑ ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลพหลโยธินให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ที่ ๑ และโจทก์ที่ ๒ ในข้อหาร่วมกันออกเช็คโดยเจตนาจะมิให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ข้อความที่ร้องทุกข์ปรากฏตามภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.๔ซึ่งเป็นภาพถ่ายเอกสารรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีของสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธินประจำวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๒๔ ข้อที่โจทก์ขอถ่ายมาจากศาลแพ่งเพราะจำเลยที่ ๑ ส่งภาพถ่ายเอกสารนี้เป็นพยานในคดีแพ่งจำเลยที่ ๑ เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลย ในการตอบคำถามค้านพยานตอบว่า เอกสารหมาย จ.๔นี้จะมีข้อความครบถ้วนหรือไม่ ไม่ทราบ ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่าในเอกสารหมาย ๔มีข้อ ๙ ต่อจากข้อ ๘ แต่ข้อความในข้อ ๙ ไม่ได้ถ่ายภาพให้ปรากฏ ทนายจำเลยจึงให้พยานภาพถ่ายเอกสารหมาย ล.๑ ซึ่งเป็นภาพถ่ายเอกสารรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีของสถานีตำรวจนครบาลโยธิน ประจำวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๒๔ เช่นกันพยานดูแล้วเบิกความมีข้อความในข้อ ๘ ตรงกับภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.๔แต่ในภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.๔ มีข้อ ๙ (หมายถึงไม่มีข้อความในข้อ ๙) เห็นว่าภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.๔ และภาพถ่ายเอกสารหมาย ล.๑ ถ่ายมาจากต้นฉบับเอกสารฉบับเดียวกัน ต่างกันเพียงว่าในภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.๔ ไม่ได้ถ่ายภาพให้ปรากฏข้อความในข้อ ๙ ย่อมถือว่าเป็นเอกสารฉบับเดียวซึ่งพยานได้เบิกความรับรองความถูกต้องข้อความในข้อ ๘ แล้ว การที่ทนายจำเลยถามนั้นเพื่อแสดงให้ปรากฏว่าในภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.๔ ที่มีข้อ ๙ อยู่แต่ไม่ปรากฏข้อความนั้นข้อความในข้อ ๙ มีอย่างไรอันเป็นข้อความที่ต่อเนื่องมาจากข้อความในข้อ ๘ นั้นเห็นว่าเป็นการถามค้านของทนายจำเลยเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้น ไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่จำเลยนำพยานเข้าสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง และภาพถ่ายเอกสารหมาย ล.๑มีเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจรับรองว่าเป็นภาพถ่ายอันถูกต้องตรงกับต้นฉบับแม้พยานจะไม่รับรองความถูกต้องข้อความในข้อ ๙ เมื่อเป็นเอกสารราชการก็เป็นอำนาจของศาลที่จะนำมาปะกอบการพิจารณาได้
พิพากษายืน

Share