แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะที่เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์มิใช่ฐานะนายจ้างหรือตัวการ จึงเป็นฟ้องที่อาศัยบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 437 ฉะนั้นแม้จะได้ความว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์ แต่เมื่อไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 2ร่วมไปในรถยนต์นั้น จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ครอบครองรถยนต์คันดังกล่าวในขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดเพราะเหตุเป็นเจ้าของรถยนต์ตามบทบัญญัติดังกล่าว.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2525 จำเลยที่ 1ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 1ก-5077 กรุงเทพมหานคร ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ครอบครอง ด้วยความเร็วสูงถึงสามแยกแครายแล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนงามวงศ์วานโดยไม่ลดความเร็วและไม่หยุดรอขณะเดียวกันจำเลยที่ 3 ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 1ค-9954กรุงเทพมหานคร ซึ่งจำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองผ่านสามแยกแครายด้วยความเร็วสูง เป็นเหตุให้รถยนต์ทั้งสองคันเฉี่ยวชนกัน รถยนต์คันที่จำเลยที่ 3 ขับเสียหลักแฉลบไปชนเสาไฟสัญญาณจราจรของโจทก์หนึ่งต้นซึ่งตั้งอยู่บริเวณที่เกิดเหตุคดงอคอนกรีตยึดเสาแตกร้าว โจทก์ต้องซ่อม รวมเป็นเงิน 2,895 บาทจำเลยที่ 1 ที่ 3 ขับรถยนต์ประมาทปราศจากความระมัดระวังตามพฤติการณ์ดังกล่าว จำเลยที่ 2 ที่ 4 ซึ่งต่างเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์ดังกล่าวจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 ชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 2,895 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 31 มกราคม 2525 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า เป็นเจ้าของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน1ก-5077 กรุงเทพมหานยคร จริง แต่รถยนต์อยู่กับพันโทสุทธิตลอดมาจนกระทั่งวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ไปขับโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพันโทสุทธิ เหตุที่รถยนต์ชนกันเพราะความประมาทของจำเลยที่ 3 ซึ่งขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด จำเลยที่ 2 ไม่ได้ครอบครองหรือควบคุมรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 1ค-9954 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 3 ไม่ได้ประมาท เหตุที่เกิดเป็นความประมาทของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3ไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน2,895 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่31 มกราคม 2525 จนกว่าจะชำระครบถ้วน ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความ 600 บาทแทนโจทก์ส่วนจำเลยที่ 3 ที่ 4 ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความรวม 800 บาท นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงคงมีปัญหาวินิจฉัยข้อกฎหมายเพียงว่าจำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ ข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองฟังต้องกันมาได้ความว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน1ก-5077 กรุงเทพมหานคร และได้มอบให้แก่พันโทสุทธิบุตรของจำเลยที่ 2 ไว้ใช้ วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ดังกล่าวประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถยนต์ที่จำเลยที่ 3 ขับโดยที่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมไปในรถยนต์นั้นด้วย ศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะที่เป็นเจ้าของผู้ครอบครอง มิใช่นายจ้างหรือตัวการจึงเป็นฟ้องที่อาศัยบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 ดังนั้นแม้จะได้ความว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน1ก-5077 กรุงเทพมหานคร แต่เมื่อไม่ได้ความว่า จำเลยที่ 2 ร่วมไปในรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ครอบครองรถยนต์คันดังกล่าวในขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 ไม่จำต้องรับผิดเพราะเหตุเป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1ก-5077 กรุงเทพมหานครตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437…”
พิพากษายืน.