คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2480/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือมอบอำนาจของบริษัทจำเลยที่มอบอำนาจให้ ช. ดำเนินคดีในศาลแรงงานกลางนั้นมี ส. ลงชื่อผู้เดียว จำเลยอุทธรณ์ว่าหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไม่ถูกต้อง เพราะตามข้อบังคับของบริษัทจำเลยกำหนดให้ ส.ลงลายมือชื่อร่วมกับ ช. และประทับตราของบริษัทด้วย การมอบอำนาจจึงไม่ผูกพันจำเลยนั้น ข้ออุทธรณ์ดังกล่าวมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลางต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 แม้จะเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ศาลฎีกาไม่เห็นสมควรที่จะยกขึ้นวินิจฉัย ก็มีอำนาจที่จะไม่วินิจฉัยให้ได้
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยระบุไว้ว่าการทำร้ายร่างกายกันเป็นความผิดทางวินัย มิได้ระบุว่าเป็นความผิดที่ร้ายแรงดังนั้น การกระทำใดจะถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงหรือไม่ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไปโจทก์ตบตีภรรยาซึ่งเป็นคนงานด้วยกันแต่ไม่ปรากฏว่าได้รับบาดเจ็บ แม้จะเป็นภายในบริเวณโรงงานแต่ก็นอกเวลาทำงาน และไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยผู้เป็นนายจ้าง การกระทำของโจทก์จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ฯ ข้อ 47 (3)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยที่โจทก์ไม่มีความผิด ไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย นอกจากนี้จำเลยได้ค้างค่าจ้างโจทก์อีกจำนวนหนึ่ง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าชดเชย และค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ประพฤติผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย คือโจทก์ทะเลาะกับภรรยาและทำร้ายร่างกายภรรยาโจทก์ในโรงงาน จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ส่วนค่าจ้างนั้นจำเลยค้างชำระอยู่จริงและยินดีจ่ายให้
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ทำผิดข้อบังคับ ฯ แต่ยังไม่ถือว่าเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าที่จำเลยอุทธรณ์ว่าหนังสือมอบอำนาจของจำเลยที่มอบให้นายธารา ใจจงรักษ์ ดำเนินคดีแทนนั้นไม่ถูกต้อง เพราะตามข้อบังคับของบริษัทจำเลยกำหนดให้นายสุเมธ กองพัฒนากูล ลงลายมือชื่อร่วมกับนายชลิต พงษ์วัฒนานุสรณ์หรือนายสุชาติ พงษ์วัฒนานุสรณ์ และประทับตราสำคัญของบริษัทด้วย แต่หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมีนายสุเมธลงลายมือชื่อแต่ผู้เดียว จึงไม่ผูกพันจำเลยนั้นพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ข้ออุทธรณ์ดังกล่าวของจำเลยมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๒๕ ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ แม้จะเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ศาลฎีกาไม่เห็นสมควรที่จะยกขึ้นวินิจฉัย จึงไม่วินิจฉัยให้
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่โจทก์ทำร้ายร่างกายภรรยาของโจทก์นั้นเป็นความผิดทางอาญา และโจทก์ได้กระทำผิดภายในโรงงานของจำเลย จึงถือได้ว่าการกระทำของโจทก์เป็นความผิดในกรณีที่ร้ายแรงตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยแล้ว พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยหมวดที่ ๔ ว่าด้วยวินัย ข้อ ๓๑.๕ กำหนดว่าห้าม (พนักงาน) ก่อการทะเลาะวิวาทหรือทำร้ายร่างกายหรือพยายามทำร้ายกันและกันต่อบุคคลใด ๆ ภายในบริเวณบริษัท ซึ่งข้อบังคับดังกล่าวมิได้ระบุว่าการกระทำผิดวินัยตามข้อ ๓๑.๕ นี้เป็นความผิดที่ร้ายแรง การกระทำใดจะถือว่าเป็นความผิดที่ร้ายแรงหรือไม่ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป ได้ความเพียงว่าโจทก์ตบตีภรรยาซึ่งเป็นคนงานด้วยกันแต่ไม่ปรากฏว่าได้รับบาดเจ็บ แม้จะเป็นภายในบริเวณโรงงานแต่ก็นอกเวลาทำงาน ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยผู้เป็นนายจ้าง การกระทำของโจทก์จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีที่ร้ายแรง เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
พิพากษายืน.

Share