แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญากู้ข้อ 4 ระบุว่า จะใช้เงินกู้เฉพาะวัตถุประสงค์เพื่อ(1) ปรับปรุงที่ดินขุดบ่อเลี้ยงปลา ขนาดกว้าง 40 เมตร ยาว 40 เมตรลึก 2.50 เมตร เป็นเงิน 50,000 บาท (2) ปรับปรุงที่ดินทำสวนผลไม้เนื้อที่ 14 ไร่ เป็นเงิน 80,000 บาทเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1ได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิใช้ดุลพินิจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมและสัญญาข้อ 11 ให้สิทธิผู้จัดการสาขามีอำนาจลดหรือระงับการจ่ายเงินกู้ที่จะพึงมีต่อไปสำหรับเงินกู้รายนี้เท่านั้น จำเลยที่ 1 มิได้ผิดสัญญา โจทก์ยังไม่มีสิทธิเรียกเงินกู้คืนทั้งหมด โจทก์โต้แย้งข้อวินิจฉัยเกี่ยวกับสัญญากู้เงินครั้งที่ 2เท่านั้น มิได้โต้แย้งข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เกี่ยวกับสัญญากู้ครั้งที่ 1 แต่อย่างใด เพียงแต่โจทก์ขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาของโจทก์เกี่ยวกับสัญญากู้เงินครั้งที่ 1จึงมิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับสัญญากู้ครั้งที่ 1 นั้น ไม่ชอบอย่างไร จึงไม่ชอบด้วยป.วิ.พ. มาตรา 249.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินกู้จำนวน129,000 บาท และดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การทำนองเดียวกันว่า เงินกู้ครั้งที่ 1ได้ชำระตามงวดแล้ว คงค้างชำระงวดสุดท้ายในวันที่ 31 มีนาคม2529 เป็นเงิน 9,000 บาท จำเลยขอผัดชำระเดือนกันยายน 2529เพราะข้าวถูกน้ำท่วมและเพลี้ยระบาด ส่วนเงินกู้ครั้งที่ 2ที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ไม่นำเงินไปใช้ปรับปรุงที่ดินขุดบ่อเลี้ยงปลาและทำสวนผลไม้ตามสัญญานั้น ความจริงจำเลยที่ 1ได้นำเงินไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ตกลงกันไว้ทุกประการ พนักงานธนาคารโจทก์กลั่นแกล้งฟ้องจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน153,077.50 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 16 ต่อปี จากต้นเงิน 129,000 บาทคิดถัดจากวันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จให้โจทก์
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า หนังสือกู้เงินระยะยาวตามเอกสารหมาย จ.8 ข้อ 4 ระบุว่า จำเลยที่ 1 จะใช้เงินกู้เพื่อปรับปรุงที่ดินขุดบ่อเลี้ยงปลาขนาดกว้างยาวด้านละ 40 เมตร ลึก 2.50 เมตร1 บ่อ เป็นเงิน 50,000 บาท ปรับปรุงที่ดินทำสวนผลไม้เนื้อที่14 ไร่ เป็นเงิน 80,000 บาท และตามข้อ 17 ถ้าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญายอมให้โจทก์เรียกเงินกู้ที่ค้างชำระทั้งหมดคืนได้ทันที พนักงานของโจทก์ออกไปตรวจสอบครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2527พบว่า จำเลยที่ 1 ยังมิได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ จำเลยที่ 1รับรองจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2528 นายสุพรพนักงานผู้ตรวจสอบได้บันทึกความเห็นว่าสมควรให้ตรวจสอบใหม่อีกครั้งภายในเดือนกรกฎาคม 2528 ผู้จัดการสาขาของโจทก์บันทึกสั่งว่าสมควรให้ตรวจสอบใหม่อีกครั้ง ซึ่งมีผลเท่ากับว่าโจทก์ยอมผ่อนผันข้อตกลงที่กำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องดำเนินการตามวัตถุประสงค์ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2527 ตามเอกสารหมาย จ.8ข้อ 5 โดยเลื่อนกำหนดที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จเป็นภายในเดือนกรกฎาคม 2528 หลังจากตรวจสอบครั้งแรกแล้ว จำเลยที่ 1ได้มีหนังสือลงวันที่ 12 กันยายน 2527 ชี้แจงต่อโจทก์ว่ายังดำเนินการไม่ได้เพราะน้ำท่วมที่นารับรองจะให้แล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2528 ต่อมาจำเลยที่ 1 มีหนังสือลงวันที่ 16 กรกฎาคม2528 ชี้แจงต่อโจทก์ว่าโครงการสร้างสวน ขุดบ่อปลาจะแล้วเสร็จก่อนสิ้นเดือนกรกฎาคม 2528 พร้อมกับอ้างเหตุผลขอเปลี่ยนโครงการจากปลูกทุเรียนและส้มโอมาเป็นขนุน มะพร้าว มะม่วง เพราะปลูกทุเรียนไม่เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศ ส่วนส้มโอปลูกกันมากจะล้นตลาด ต่อมาวันที่ 29 กรกฎาคม 2528 นายสุรพลและนายบุญส่งพนักงานของโจทก์ออกไปตรวจสอบและทำรายงานว่า จำเลยขุดบ่อลึกเพียง1.50 เมตร ซึ่งตามข้อตกลงจะต้องขุดลึก 2.50 เมตร ยังไม่ได้เลี้ยงปลาจะนำมาเลี้ยงในภายหลัง ยกคันสวนได้ยาวเพียง 840 เมตรซึ่งตามข้อตกลงจะต้องให้ได้ยาว 1,400 เมตร และจำเลยที่ 1 จะต้องปลูกส้มโอ 150 ต้น ทุเรียน 100 ต้น ขนุน 50 ต้น มะม่วง 50 ต้นแต่จำเลยปลูกมะพร้าว 120 ต้น ขนุน 130 ต้น มะม่วง 55 ต้น ส้มโอ30 ต้น กล้วย 80 ต้น ไม่ได้ปลูกทุเรียน พนักงานผู้ตรวจสอบบันทึกความเห็นว่า จำเลยที่ 1 ใช้เงินไม่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์เห็นควรเรียกเงินกู้คืน โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การกู้เงินครั้งที่ 2 ตามหนังสือกู้เงินระยะยาวเพื่อการเกษตรเอกสารหมาย จ.8 ข้อ 4 ระบุว่า จะใช้เงินกู้เฉพาะวัตถุประสงค์เพื่อ(1) ปรับปรุงที่ดินขุดบ่อเลี้ยงปลาขนาดกว้าง 40 เมตร ยาว 40 เมตรลึก 2.50 เมตร เป็นเงิน 50,000 บาท (2) ปรับปรุงที่ดินทำสวนผลไม้เนื้อที่ 14 ไร่ เป็นเงิน 80,000 บาท เท่านั้น ที่พนักงานของโจทก์บันทึกไว้ในรายงานการตรวจสอบการใช้เงินตามเอกสารหมาย จ.4 ว่าจะต้องเลี้ยงปลาตะเพียน 10,000 ตัว ยกคันสวนรวมความยาว1,400 เมตร และปลูกต้นผลไม้ชนิดใดกี่ต้นเหล่านี้มิได้ระบุในสัญญาจึงเป็นเพียงรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงปลาและทำสวนเท่านั้น ส่วนการขุดบ่อปลาลึกเท่าใดก็มิใช่สาระสำคัญของสัญญาในเมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ โดยได้ขุดบ่อปลายกคันสวนและปลูกต้นไม้จำนวนมากแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิใช้ดุลพินิจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม เมื่อการปลูกทุเรียนไม่เหมาะสมกับดินฟ้าอากาศ ปลูกส้มโอจะล้นตลาดจำเลยที่ 1 มีสิทธิเปลี่ยนไปปลูกขนุน มะม่วง และมะพร้าวได้ สัญญาข้อ 11 ให้สิทธิผู้จัดการสาขามีอำนาจลดหรือระงับการจ่ายเงินกู้ที่จะพึงมีต่อไปสำหรับเงินกู้รายนี้เท่านั้น จำเลยที่ 1 มิได้ผิดสัญญา โจทก์ยังไม่มีสิทธิเรียกเงินกู้คืนทั้งหมด ส่วนปัญหาเกี่ยวกับการกู้เงินครั้งที่ 1 โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาแต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 เปลี่ยนแปลงโครงการโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเพราะใช้เงินกู้ผิดวัตถุประสงค์ เป็นการโต้แย้งข้อวินิจฉัยเกี่ยวกับสัญญากู้เงินครั้งที่ 2 เท่านั้นมิได้โต้แย้งข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เกี่ยวกับสัญญากู้ครั้งที่ 1 แต่อย่างใด เพียงแต่โจทก์ขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยชำระหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเท่านั้นฎีกาของโจทก์เกี่ยวกับสัญญากู้เงินครั้งที่ 1 จึงมิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับสัญญากู้ครั้งที่ 1 นั้น ไม่ชอบอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน.