แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2 ขับรถไปชนรถยนต์ของโจทก์เสียหาย ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับตัวแทนโจทก์ ระบุว่าจำเลยที่ 1 ยอมใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ไม่ปรากฏมีหลักฐานเป็นหนังสือแสดงการตั้งจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 จะลงชื่อในสัญญาด้วยก็ลงไว้ในฐานะเป็นพยานเจ้าของรถ หาใช่ในฐานะนายจ้างหรือตัวการหรือคู่สัญญาไม่ สัญญาประนีประนอมยอมความจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 เมื่อโจทก์กับจำเลยที่ 1ทำสัญญาประนีประนอมยอมความระงับข้อพิพาท อันเป็นเหตุให้มูลหนี้ละเมิดระงับสิ้นไป และโจทก์ได้สิทธิใหม่ตามสัญญา ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างและตัวการเพื่อการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 และ มาตรา427 ย่อมระงับ เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย จำเลยที่ 3ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและตัวแทนของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุก และจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ดังกล่าวในประเภทประกันภัยค้ำจุน จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2ดังกล่าว โดยประมาทชนรถยนต์โดยสารของโจทก์ได้รับความเสียหายหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวและตัวแทนจำเลยที่ 2 ตกลงชำระค่าเสียหายให้ตัวแทนโจทก์ เมื่อถึงกำหนดชำระจำเลยที่ 1 และที่ 2ผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนต้องร่วมรับผิดแก่โจทก์ด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกจ้างและตัวแทนจำเลยที่ 2จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วยทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย คือผู้เอาประกันภัยจะต้องไม่ตกลงยินยอมเสนอ หรือให้สัญญาว่าจะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บุคคลใดโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 3 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ไม่ใช่คู่สัญญาและไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยทั้งสาม มูลหนี้ละเมิดระงับไปแล้วโดยสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับฝ่ายโจทก์ สัญญานั้นไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกน้ำมันของจำเลยที่ 2ชนรถยนต์โดยสารของโจทก์เสียหาย แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ตกลงยอมใช้ค่าเสียหายให้ฝ่ายโจทก์ บันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อระงับหนี้มูลละเมิด จึงผูกพันจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 3เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกน้ำมันของจำเลยที่ 2 เงื่อนไขแห่งความรับผิดตามสัญญาประกันภัยไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งมิใช่คู่สัญญา การที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยมิได้แจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบอันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดในกรมธรรม์ประกันภัย ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 จะต้องว่ากล่าวกับจำเลยที่ 2 เอง จะอ้างมายันโจทก์หาได้ไม่ แม้สัญญาประนีประนอมยอมความจะระงับหนี้มูลละเมิด แต่สัญญาทำขึ้นก็เนื่องจากอุบัติเหตุอันเกิดจากการใช้รถยนต์ที่จำเลยที่ 3 ได้รับประกันภัยไว้ จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดตามสัญญาหาได้ฟ้องให้รับผิดในมูลละเมิดไม่ หากโจทก์เพียงบรรยายฟ้องให้เห็นว่าข้อตกลงตามสัญญามีที่มาจากมูลละเมิดเท่านั้น ดังนี้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในมูลละเมิดย่อมระงับสิ้นไป มาผูกพันกันใหม่ตามสัญญา แต่จำเลยที่ 3มิได้เป็นคู่สัญญาด้วย จึงไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ แม้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดก็ไม่มีผลให้จำเลยที่ 3 ต้องมีส่วนรับผิดด้วย พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ตามสัญญาประกันภัยจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามจำเลยที่ 2 เพื่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกเนื่องจากอุบัติเหตุอันเกิดจากการใช้รถยนต์ในระหว่างระยะเวลาประกันภัยโดยมิได้ระบุว่าจะต้องเป็นความเสียหายจากมูลละเมิดเท่านั้น แต่สัญญาประกันภัยดังกล่าวก็ระบุว่า จำเลยที่ 3 จะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดตามกฎหมายคดีนี้ตามคำฟ้องของโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและตัวแทนของจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์ และเมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ชนรถยนต์ของโจทก์เสียหาย จำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวและตัวแทนของจำเลยที่ 2 ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับตัวแทนของโจทก์ยอมใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 5,400 บาท แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระเงินตามสัญญา โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยให้ร่วมรับผิดด้วยศาลฎีกาเห็นว่า สัญญประนีประนอมยอมความระหว่างจำเลยที่ 1 กับตัวแทนของโจทก์ระบุไว้โดยชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ยอมใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 2 ทั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 851 ก็บังคับว่าสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือและมาตรา 798 วรรคสองบัญญัติว่า กิจการอันใดท่านบังคับว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานเป็นหนังสือแสดงการตั้งจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด แม้จำเลยที่ 2 จะลงลายมือชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความด้วยก็ลงไว้ในฐานะเป็นพยานเจ้าของรถ หาใช่กระทำในฐานะนายจ้างหรือตัวการหรือคู่สัญญาไม่ ดังนั้นสัญญาประนีประนอมยอมความจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 คงผูกพันเฉพาะจำเลยที่ 1 กับโจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญาเท่านั้น เมื่อโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความระงับข้อพิพาท อันเป็นเหตุให้มูลหนี้ละเมิดระงับสิ้นไปและโจทก์ได้สิทธิใหม่ตามสัญญา ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างและตัวการเพื่อการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 และ 427 ย่อมระงับ เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
พิพากษายืน