แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
รถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุมี ส. เป็นผู้ขับ จำเลยที่ 3เช่าซื้อมามีจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1เป็นผู้ค้ำประกัน มีการพ่นชื่อจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 คนทั่วไปที่ได้พบเห็นรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุจะต้องเข้าใจว่าเป็นรถของจำเลยที่ 1 หลังเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 ได้ต่อรองเรื่องค่าเสียหาย พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์ร่วมกันกับจำเลยที่ 3 เมื่อ ส. นำรถยนต์คันเกิดเหตุของจำเลยที่ 3 ไปใช้ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 โดยประมาทเลินเล่อ กรณีถือได้ว่า ส. เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ด้วยจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ในฐานะนายจ้างของนายสุพลหรือไก่กับจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ชำระค่าสินไหมทดแทนที่นายสุพลหรือไก่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำละเมิดต่อโจทก์ได้รับบาดเจ็บ ขอให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 398,931 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ใช่นายจ้างของจำเลยที่ 3 และนายสุพลหรือไก่ เหตุเกิดมิใช่ความประมาทของนายสุพลหรือไก่ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน283,605 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 221,758 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ในปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1และที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 หรือไม่นั้น ได้ความว่ารถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุที่มีนายสุพลหรือไก่เป็นผู้ขับ จำเลยที่ 3เช่าซื้อมามีจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1เป็นผู้ค้ำประกัน มีการพ่นชื่อจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 คนทั่วไปที่ได้พบเห็นรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุจะต้องเข้าใจว่าเป็นรถของจำเลยที่ 1 หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ได้ต่อรองเรื่องค่าเสียหาย ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างว่าได้ว่าจ้างรถยนต์คันเกิดเหตุมาใช้เป็นครั้งคราวก็คงมีแต่จำเลยที่ 2 และที่ 3ซึ่งมีผลประโยชน์ร่วมกันเป็นพยาน ย่อมไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์ร่วมกันกับจำเลยที่ 3 เมื่อนายสุพลหรือไก่นำรถยนต์คันเกิดเหตุของจำเลยที่ 3 ไปใช้ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 โดยประมาทเลินเล่อกรณีถือได้ว่านายสุพลหรือไก่เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1ด้วย จำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิด ฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน