แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลย โดยอ้างว่าราคาที่ได้ต่ำเกินสมควรโดยเกิดจากความไม่สุจริตของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องในข้อนี้ จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในข้อนี้ย่อมเป็นที่สุดตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาในข้อนี้มาด้วย เป็นการไม่ชอบ
เงื่อนไขท้ายประกาศขายทอดตลาดที่กำหนดให้ผู้เข้าประมูลซื้อทรัพย์วางประกันความเสียหายต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดขึ้นเพื่อป้องกันความเสียหายกรณีผู้ซื้อทรัพย์บิดพลิ้วหรือแกล้งเข้าประมูลสู้ราคาโดยไม่มีเจตนาจะซื้อทรัพย์จริง น. เพียงเป็นผู้เข้าประมูลสู้ราคารายหนึ่งแต่ผู้ให้ราคาสูงสุดคือ ม. และการที่ น. เข้าสู้ราคาดังกล่าวก็เป็นเหตุให้ ม. ต้องเสนอราคาสูงขึ้นจำเลยจึงเป็นฝ่ายได้ประโยชน์ เมื่อจำเลยไม่ได้รับความเสียหายจากการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ให้ น. วางเงินประกันก่อนเข้าประมูลทรัพย์ตามเงื่อนไขท้ายประกาศ จำเลยจะอาศัยเหตุดังกล่าวมาร้องขอให้ศาลเพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์ไม่ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินจำนวน 5,561,167.98 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสามไม่ชำระ โจทก์จึงขอหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 734, 4206, 4207, 4208 และ 8027 ตำบลกลางดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา ต่อมาวันที่ 23 เมษายน 2540 ศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 734 และ 4208 พร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวซึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ ให้แก่โจทก์ในราคา 5,000,000 บาท และ 1,500,000 บาทตามลำดับ
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะการบังคับคดีตามคำพิพากษา โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่แจ้งวันนัดให้จำเลยที่ 2 ทราบ และประเมินราคาทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ต่ำกว่าราคาที่เป็นจริงกระทำตนไม่เป็นกลางส่อไปในทางช่วยเหลือโจทก์โดยให้โจทก์ประมูลซื้อทรัพย์โดยไม่มีผู้ใดประมูลแข่ง และผู้เข้าประมูลไม่ได้วางเงินประกันต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีตามเงื่อนไขในประกาศขายทอดตลาด ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 โดยให้เหตุผลในทำนองเดียวกับจำเลยที่ 2
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ถูกต้องตามกฎหมายแล้วขอให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3
ศาลชั้นต้นรวมการไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าด้วยกันและมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ (รวม) 6,000 บาท
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 600 บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2540 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 734 และ 4208 พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 และที่ 3ตามลำดับ ให้แก่โจทก์ในราคา 5,000,000 บาท และ 1,500,000 บาทตามลำดับโดยเป็นการประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวครั้งที่ 11 และสามารถขายได้ในราคาสูงกว่าราคาประเมินสำหรับข้อที่จำเลยที่ 2 และที่ 3ฎีกาว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3ดังกล่าวไปในราคาต่ำไปนั้นเห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่างยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3โดยอ้างว่า ราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3มีจำนวนต่ำเกินสมควรโดยเกิดจากความไม่สุจริตของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3ในข้อนี้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในข้อนี้ย่อมเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะฎีกาปัญหาข้อนี้อีกไม่ได้ แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3ในข้อนี้มาด้วยก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาข้อต่อมาว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ให้นายนิคม ชินบุตร ผู้เข้าประมูลซื้อทรัพย์รายหนึ่งวางเงินประกันก่อนเข้าประมูลซื้อทรัพย์ตามเงื่อนไขท้ายประกาศขายทอดตลาดเป็นการกระทำที่ไม่ชอบและไม่สุจริตนั้นเห็นว่า เงื่อนไขท้ายประกาศขายทอดตลาดที่กำหนดให้ผู้เข้าประมูลซื้อทรัพย์วางเงินประกันความเสียหายต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดขึ้นเพื่อป้องกันความเสียหายกรณีผู้ซื้อทรัพย์บิดพลิ้วหรือแกล้งเข้าประมูลสู้ราคาโดยไม่มีเจตนาจะซื้อทรัพย์จริง แต่ตามทางไต่สวนได้ความว่า ในการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในวันที่ 23 เมษายน 2540 นั้น นายนิคมเพียงแต่เป็นผู้เข้าประมูลสู้ราคารายหนึ่ง แต่ไม่ใช่เป็นผู้ให้ราคาสูงสุด ผู้ให้ราคาสูงสุดคือนายมนตรี เลอลอย ผู้รับมอบอำนาจโจทก์และการที่นายนิคมเข้าสู้ราคาดังกล่าวก็เป็นเหตุให้นายมนตรีผู้รับมอบอำนาจโจทก์ต้องเสนอราคาสูงขึ้นจนกระทั่งเป็นผู้ซื้อทรัพย์ได้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นฝ่ายได้ประโยชน์ในกรณีนี้ เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของเจ้าพนักงานบังคับคดีในกรณีนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะอาศัยเหตุดังกล่าวมาร้องขอให้ศาลเพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 หาได้ไม่”
พิพากษายืน