คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2469/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญากู้เงินให้โจทก์เพื่อไม่ให้โจทก์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับที่ดินที่โจทก์ขอแบ่งจากจำเลย โจทก์ได้ปฏิบัติตามสัญญาโดยไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับที่ดินนั้นแล้ว โจทก์จำเลยมิได้พิพาทเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวแต่พิพาทกันว่าสัญญากู้เงินตามฟ้องมีมูลหนี้หรือไม่ การที่โจทก์นำสืบว่ามารดาโจทก์ยกที่ดินให้จำเลยเพียงเพื่อต้องการให้จำเลยสามารถนำที่ดินไปจำนองธนาคารได้นั้นเป็นการนำสืบเพื่อหักล้างข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่าสัญญากู้เงินไม่มีมูลหนี้เท่านั้น หาเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารหนังสือสัญญาให้ที่ดินฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 94 ไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2529 จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์ไป 15,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีและชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 28 สิงหาคม 2531 ครบกำหนดจำเลยไม่ชำระและค้างชำระดอกเบี้ยตลอดมาเป็นเงิน 2,718 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 17,718 บาท กับดอกเบี้ยตามสัญญาในต้นเงินกู้นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นน้องมารดาจำเลย จำเลยได้รับโอนที่ดินจากมารดาโจทก์โดยเสน่หา เมื่อมารดาโจทก์ถึงแก่กรรม โจทก์มาขอแบ่งที่ดินนั้นจำเลยตกลงว่าไถ่ถอนที่ดินจากธนาคารแล้วจะแบ่งให้โจทก์จึงให้จำเลยทำสัญญากู้ตามฟ้องไว้เป็นหลักฐานเมื่อจำเลยแบ่งที่ดินให้แล้วจะคืนให้ สัญญากู้ที่ทำกันไว้ไม่มีการส่งมอบเงินไม่สมบูรณ์ ใช้บังคับไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 15,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2529 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 2,718 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายขึ้นมาสู่ศาลฎีกาว่าที่โจทก์นำสืบว่ามารดาโจทก์ยกที่ดินให้จำเลยเพียงเพื่อต้องการให้จำเลยสามารถนำที่ดินไปจำนองธนาคารได้นั้น เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารหนังสือสัญญาให้ที่ดินที่มารดาโจทก์ยกที่ดินให้จำเลย ตามเอกสารหมาย ล.1 ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนฟังได้ว่าจำเลยทำสัญญากู้เงินให้โจทก์เพื่อให้โจทก์ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับที่ดินที่โจทก์ขอแบ่งจากจำเลย โจทก์ได้ปฏิบัติตามสัญญาโดยไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับที่ดินนั้นแล้ว เช่นนี้เห็นว่า คดีนี้โจทก์จำเลยมิได้พิพาทกันเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าว หากแต่พิพาทกันโดยตรงว่าสัญญากู้เงินตามฟ้องมีมูลหนี้หรือไม่ ดังนั้น การนำสืบของโจทก์ตามที่กล่าวข้างต้นจึงเป็นการนำสืบเพื่อหักล้างข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่าสัญญากู้เงินไม่มีมูลหนี้เท่านั้น หาเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารหนังสือสัญญาให้ที่ดินฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94ไม่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยปัญหาข้อนี้มาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share