คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2466/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยมีกล้องสูบฝิ่นไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติฝิ่น พ.ศ. 2472 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528 ยกเลิกพระราชบัญญัติฝิ่น ดังกล่าวแล้วใช้ความใหม่แทน และไม่ได้บัญญัติให้การมีกล้องสูบฝิ่นเป็นความผิด การกระทำของจำเลยซึ่งเดิมเป็นความผิดจึงไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ดังนี้ จำเลยพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติฝิ่น พ.ศ. 2472มาตรา 8, 11, 34, 53, 53 ทวิ, 69 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 83และขอให้ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติฝิ่น พ.ศ. 2472 มาตรา 8, 11, 34, 53, 53 ทวิ, 69 ให้ลงโทษข้อหามีฝิ่นจำคุกคนละ 6 เดือน ข้อหามีมูลฝิ่นจำคุก 6 เดือนข้อหามีกล้องสูบฝิ่นปรับคนละ 100 บาท และให้ลงโทษจำเลยที่ 2ข้อหาเสพฝิ่นจำคุก 6 เดือน รวมลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 1 ปีปรับ 100 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 1 ปี 6 เดือน ปรับ 100 บาทของกลางริบ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยที่ 2 สูบฝิ่นและมีฝิ่น มูลฝิ่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 2ตามข้อหาดังกล่าวชอบแล้ว ส่วนข้อหามีกล้องสูบฝิ่นนั้นโจทก์มิได้อ้างบทลงโทษ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยจึงไม่ชอบและมีผลถึงจำเลยที่ 1 ด้วย พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกข้อหาเกี่ยวกับจำเลยทั้งสองในข้อหามีกล้องสูบฝิ่น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในข้อหามีกล้องสูบฝิ่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นด้วย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาว่า จะลงโทษจำเลยทั้งสองฐานมีกล้องสูบฝิ่นไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องโจทก์ได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าเกี่ยวกับคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีกล้องสูบฝิ่นไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติฝิ่น พ.ศ. 2472 มาตรา 34, 66 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด แต่ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528ยกเลิกพระราชบัญญัติฝิ่นดังกล่าวแล้วใช้ความใหม่แทน และตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ปรากฏว่าได้บัญญัติให้การมีกล้องสูบฝิ่นเป็นความผิด การกระทำของจำเลยทั้งสองซึ่งเดิมเป็นความผิดจึงไม่เป็นความผิดอีกต่อไป จำเลยทั้งสองพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง คดีไม่มีทางลงโทษจำเลยได้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของโจทก์ต่อไป”
พิพากษายืน

Share