คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2465/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

กรมตำรวจได้จัดสร้างพระพุทธโสธร รุ่นประวัติศาสตร์ กรมตำรวจ 80 ปี เพื่อจำหน่ายนำรายได้มาส่งเสริมสวัสดิการให้แก่ข้าราชการตำรวจและสมทบเป็นกองทุนเพื่อพัฒนาสถานีตำรวจทั่วประเทศ โดยมีการออกคำสั่งวางแนวปฏิบัติในการรับเงินจากการจำหน่ายและนำเงินเข้าบัญชี ซึ่งตามบันทึกข้อความเรื่องวิธีปฏิบัติและควบคุมการรับเงินบริจาคในการสร้างพระพุทธโสธร รุ่นประวัติศาสตร์ กรมตำรวจ 80 ปี ระบุให้หน่วยที่รับผิดชอบใบสั่งจองและรับเงินบริจาค จัดเจ้าหน้าที่รับเงินบริจาคและจัดทะเบียนคุมการรับเงินบริจาคและทะเบียนคุมการสั่งจองพระ ซึ่งเจ้าหน้าที่ควบคุมเป็นสารวัตรการเงินของหน่วย ฯลฯ เมื่อรับเงินบริจาคแล้วให้นำเงินฝาก ธนาคาร ท. ตามชื่อบัญชีและเลขที่บัญชีที่กำหนดไว้ ดังนี้ เมื่อจำเลยดำรงตำแหน่งสารวัตรการเงินของหน่วย จึงมีหน้าที่รับเงิน แล้วนำฝากเข้าบัญชีธนาคาร ซึ่งเงินที่จำเลยรับไว้ย่อมถือได้ว่าเป็นการรับไว้แทนกรมตำรวจ สิทธิในเงินรับบริจาคย่อมตกแก่กรมตำรวจแล้วตั้งแต่เวลาที่จำเลยได้รับเงินไว้ หาใช่เงินของเจ้าพนักงานตำรวจแปดนายดังที่โจทก์ฟ้องไม่ เจ้าพนักงานตำรวจทั้งแปดนายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายในเงินดังกล่าว ย่อมไม่มีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหายักยอกทรัพย์โจทก์จึงไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และให้จำเลยคืนเงินแต่ละจำนวนแก่ผู้เสียหายแต่ละรายรวมเป็นเงินจำนวน 676,600 บาท
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก ให้จำคุก 1 ปี และให้จำเลยคืนเงินแต่ละจำนวนแก่ผู้เสียหายแต่ละรายจำนวน 676,600 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าขณะเกิดเหตุจำเลยรับราชการในตำแหน่งสารวัตร (ทำหน้าที่งบประมาณและการเงิน) ตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี กรมตำรวจได้จัดสร้างพระพุทธโสธร รุ่นประวัติศาสตร์ กรมตำรวจ 80 ปี เพื่อจำหน่ายนำรายได้มาส่งเสริมสวัสดิการให้แก่ข้าราชการตำรวจและสมทบเป็นกองทุนเพื่อพัฒนาสถานีตำรวจทั่วประเทศตามโครงการโรงพักของเราโดยไม่ใช้เงินงบประมาณของกรมตำรวจซึ่งได้มีการออกคำสั่งวางแนวปฏิบัติในการรับเงินจากการจำหน่ายและนำเงินเข้าบัญชีโดยระบุให้เจ้าหน้าที่ควบคุมเป็นสารวัตรการเงินของหน่วยซึ่งได้กำหนดวิธีปฏิบัติ คือครั้งแรกที่พระยังสร้างไม่เสร็จ การสั่งจองและรับเงินบริจาคให้สารวัตรการเงินเป็นผู้ควบคุม และเมื่อได้รับเงินตามใบจองจะต้องนำเงินเข้าฝากที่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ในเขตพื้นที่เพื่อโอนไปยังสาขาราชประสงค์ตามบัญชีเลขที่ที่กำหนดไว้ ครั้งที่สอง หลังจากสร้างพระเสร็จแล้วให้สารวัตรการเงินควบคุมการรับเงินและนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายพระเข้าฝากที่ธนาคารเดียวกัน ต่อมาตำรวจภูธรภาค 4 ให้ตำรวจภูธรทุกแห่งในสังกัดไปรับพระพุทธโสธร ที่ตำรวจภูธรภาค 4 ตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี มอบหมายให้จำเลยเดินทางไปรับพระพุทธโสธรมาจัดสรรให้สถานีตำรวจภูธรในสังกัดตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานีมารับไปจำหน่าย ภายหลังสถานีตำรวจภูธรในสังกัดตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานีส่งเงินที่ได้จากการจำหน่ายพระพุทธโสธรมายังตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี โดยจำเลยซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบควบคุมเงินที่ได้รับจากพันตำรวจโทวรวุฒิหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรอำแภอกุมภวาปี จำนวน 192,100 บาท พันตำรวจโทบุญสมหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอทุ่งฝน จำนวน 60,000 บาท พันตำรวจโทสุวัฒน์หัวหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอนายูง จำนวน 40,000 บาท พันตำรวจโทสุสันต์หัวหน้าสถานีตำรวจภูธรตำบลกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือ จำนวน 44,500 บาท พันตำรวจโทไชยาหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอไชยวาน จำนวน 80,000 บาท พันตำรวจโทคะนองศักดิ์หัวหน้าสถานีตำรวจภูธรตำบลดงเย็น อำเภอบ้านดุง จำนวน 29,800 บาท พันตำรวจโทอดุลย์หัวหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านดุง จำนวน 109,000 บาท และพลตำรวจตรีบรรจงผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี จำนวน 121,200 บาท รวมเป็นเงิน 676,600 บาท ต่อมาจำเลยอ้างว่าเงินดังกล่าวสูญหายไป พันตำรวจโทวรวุฒิ พันตำรวจโทบุญสม พันตำรวจโทสุวัฒน์ พันตำรวจโทสุสันต์ พันตำรวจโทไชยา พันตำรวจโทคะนองศักดิ์ พันตำรวจโทอดุลย์ และพลตำรวจตรีบรรจงต่างได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดข้อหายักยอก มีปัญหาวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ว่า พันตำรวจโทวรวุฒิ พันตำรวจโทบุญสม พันตำรวจโทสุวัฒน์ พันตำรวจโทสุสันต์ พันตำรวจโทไชยา พันตำรวจโทคะนองศักดิ์ พันตำรวจโทอดุลย์และพลตำรวจตรีบรรจงเป็นผู้เสียหายคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า ตามคำสั่งกรมตำรวจที่ 140/2538 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการจัดสร้างพระพุทธโสธร รุ่นประวัติศาสตร์ กรมตำรวจ 80 ปี เนื่องจากกรมตำรวจมีแนวนโยบายในการปรับปรุงภาพลักษณ์ในการปฏิบัติงานของสถานีตำรวจให้บังเกิดผลจริงจังในเรื่องเกี่ยวกับอาคารสถานที่การบริการ การป้องกันปราบปราม การอำนวยความยุติธรรม การบริหารงาน และการปกครองบังคับบัญชา เพื่อให้ประชาชนที่ขึ้นมาใช้บริการแล้วกลับไปด้วยความพึงพอใจและประทับใจ รวมทั้งจัดให้มีการส่งเสริมสวัสดิการให้แก่ข้าราชการตำรวจ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด จึงสมควรที่จะมีการจัดหารายได้ โดยไม่ทำให้ภาพลักษณ์ของตำรวจต้องเสียหาย ด้วยการจัดสร้างพระพุทธโสธร รุ่นประวัติศาสตร์ กรมตำรวจ 80 ปี ออกจำหน่ายเพื่อจัดหาทุนมาดำเนินการ โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการจัดสร้างขึ้น ต่อมาได้มีบันทึกข้อความเรื่องวิธีปฏิบัติและควบคุมการรับเงินบริจาคในการสร้างพระพุทธโสธร รุ่นประวัติศาสตร์ กรมตำรวจ 80 ปี ระบุให้หน่วยที่รับผิดชอบใบสั่งจองและรับเงินบริจาค จัดเจ้าหน้าที่รับบริจาคและจัดทะเบียนคุมการรับเงินบริจาคและทะเบียนคุมการสั่งจองพระ ซึ่งเจ้าหน้าที่ควบคุมควรเป็นสารวัตรการเงินของหน่าย ฯลฯ เมื่อรับเงินบริจาคแล้ว ให้นำเงินฝากธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาราชประสงค์ ตามชื่อบัญชีและเลขที่บัญชีที่กำหนดไว้ ดังนี้ เมื่อจำเลยดำรงตำแหน่งสารวัตรการเงินของหน่วย จึงมีหน้าที่รับเงิน แล้วนำฝากเข้าบัญชีธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาราชประสงค์ ซึ่งเงินที่จำเลยรับไว้ย่อมถือได้ว่าเป็นการรับไว้แทนกรมตำรวจ สิทธิในเงินรับบริจาคย่อมตกแก่กรมตำรวจแล้วตั้งแต่เวลาที่จำเลยได้รับเงินไว้ หาใช่เงินของเจ้าพนักงานตำรวจทั้งแปดนายดังที่โจทก์ฟ้องไม่ เจ้าพนักงานตำรวจทั้งแปดนายดังกล่าวข้างต้น จึงไม่ใช่ผู้เสียหายในเงินดังกล่าว ย่อมไม่มีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยกฟ้องโจทก์จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share