คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2460-2461/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในกรณีที่มีผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอันเดียวกันหรือเกือบเหมือนกันหลายราย และนายทะเบียนได้มีหนังสือแจ้งให้ทำความตกลงกันเองหรือนำคดีไปสู่ศาลแล้ว ไม่ได้รับแจ้งภายในกำหนดว่าผู้ขอได้ตกลงกันหรือได้นำคดีไปสู่ศาล มาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ.2474 บัญญัติให้นายทะเบียนจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแก่ผู้ที่ขอขึ้นมาก่อนผู้อื่น บทบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติว่าสิทธิที่จะนำคดีไปสู่ศาลเป็นอันระงับสิ้นไป เจตนารมย์ของกฎหมายเพียงเพื่อให้การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินไปโดยรวดเร็วเท่านั้น แม้นายทะเบียนจะได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้แล้ว ซึ่งทำให้บุคคลผู้ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าแต่ผู้เดียวตามมาตรา 27 ก็ตาม หากมีผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้ดีกว่า ผู้มีสิทธิดีกว่าก็อาจขอให้ศาลเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้ได้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 41(1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าเป็นเจ้าของและผู้คิดค้นเครื่องหมายการค้า “VITA TOFU”ประกอบรูปสลาก มีรูปผู้หญิงและดอกเชอรี่หรือซากุระ ใช้กับผลิตภัณฑ์อาหารของโจทก์โดยเฉพาะกับสินค้าเตาหู้มาไม่น้อยกว่า 5 ปี เมื่อโจทก์ไปขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จึงทราบว่า จำเลยได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีลักษณะเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เป็นการลวงสาธารณชน ก่อให้เกิดการหลงผิด และได้ใช้กับสินค้าชนิดเดียวกันกับโจทก์ โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลย เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ และโจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยให้นายทะเบียนระงับการจดทะเบียนการค้าของจำเลย และห้ามมิให้จำเลยขัดขวางการจดทะเบียนของโจทก์ ห้ามมิให้จำเลยผลิตสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของจำเลย ให้เรียกเก็บสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าว และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ได้ค้นคิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าตามฟ้อง โจทก์เพิ่งประกอบการผลิตอาหารเต้าหู้มาปีเศษ มารดาจำเลยได้ผลิตเต้าหู้ขายในท้องตลาดมา 17 – 18 ปีแล้ว ต่อมาตั้งเป็นโรงงาน จึงได้คิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าใช้กับเต้าหู้เป็นภาพสตรีในชุดพยาบาลมาประมาณ 10 ปีแล้วโจทก์เลียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย ต่อมาจำเลยจึงขอจดทะเบียน โจทก์ไม่มีสิทธิห้ามและเรียกค่าเสียหาย จำเลยเป็นฝ่ายได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้องโจทก์ และขอให้โจทก์ชำระค่าเสียหายแก่จำเลย

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยและมารดาจำเลยไม่เคยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาก่อน จำเลยไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทำความตกลงกับจำเลยหรือนำคดีไปสู่ศาล โจทก์ไม่ไปตกลงกับจำเลยและไม่ได้แจ้งต่อนายทะเบียนว่าได้นำคดีไปสู่ศาลแล้ว นายทะเบียนจึงไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย การที่โจทก์ไม่แจ้งตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าถือว่าโจทก์สละสิทธิหรือไม่ติดใจดำเนินการตามคำขอจดทะเบียนต่อไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับจำเลยตามคำขอท้ายฟ้องได้ ขอให้มีคำสั่งจำหน่ายคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่ายังไม่สมควรพิจารณาปัญหาข้อกฎหมายตามคำร้องของจำเลย ให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยห้ามมิให้จำเลยขัดขวางการจดทะเบียนของโจทก์ และมิให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ คำขอนอกจากนี้และฟ้องแย้งของจำเลยให้ยก

จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งยกคำร้องขอให้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายและอุทธรณ์คำพิพากษาขอให้ยกฟ้องโจทก์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์ไม่แจ้งการนำคดีไปสู่ศาลจนเป็นเหตุให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนให้แก่จำเลย จำเลยจึงเป็นเจ้าของสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะใช้เครื่องหมายการค้า ไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นข้ออื่นพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์และจำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าประเภทเต้าหู้ นายทะเบียนพิจารณาแล้วเห็นว่าเครื่องหมายการค้าที่โจทก์และจำเลยขอจดทะเบียนนั้นเหมือนหรือเกือบเหมือนกัน จึงมีหนังสือแจ้งให้โจทก์จำเลยทำความตกลงกันหรือนำคดีไปสู่ศาล และต้องแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในกำหนด 3 เดือน หากไม่ปฏิบัติดังกล่าวจะดำเนินการจดทะเบียนให้กับเครื่องหมายการค้าซึ่งได้ยื่นมาก่อน โจทก์ฟ้องคดีนี้ก่อนที่นายทะเบียนจะมีหนังสือแจ้งให้โจทก์จำเลยทราบ และไม่มีฝ่ายใดแจ้งให้นายทะเบียนทราบถึงคดีที่ได้ฟ้อง นายทะเบียนจึงรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย ปัญหามีว่าโจทก์ยังคงมีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่

วินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นรูปผู้หญิงกับดอกซากุระหรือเชอรี่ มีลักษณะเหมือนกันกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เป็นการลวงสาธารณชน เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โดยโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลย โจทก์ฟ้องคดีนี้ไว้ก่อนที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์จำเลยทำความตกลงกันหรือนำคดีไปสู่ศาล โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องอยู่แล้ว เพียงแต่โจทก์มิได้แจ้งให้นายทะเบียนทราบว่าได้ฟ้องจำเลยเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้ารายพิพาทนายทะเบียนจึงรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย เพราะจำเลยเป็นผู้ขอจดทะเบียนไว้ก่อน ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 17 ในกรณีเช่นนี้บทบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติว่าสิทธิที่จะนำคดีไปสู่ศาลเป็นอันสิ้นไป เจตนารมย์ของกฎหมายเพียงเพื่อให้การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินไปโดยรวดเร็วเท่านั้น แม้นายทะเบียนจะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยซึ่งตามมาตรา 27 บัญญัติให้บุคคลผู้ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าเป็นเจ้าของมีสิทธิผู้เดียวเพื่อใช้เครื่องหมายสำหรับสินค้าที่จดทะเบียนไว้ แต่ถ้าหากมีผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่จำเลยจดทะเบียนไว้ดีกว่าจำเลยผู้มีสิทธิดีกว่าก็อาจขอให้ศาลเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่จำเลยจดทะเบียนไว้ได้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 41(1) ดังนี้ บทบัญญัติในมาตรา 27 จึงอยู่ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 41 โจทก์จึงยังคงมีอำนาจฟ้องจำเลยแต่คดีนี้ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในประเด็นว่า โจทก์หรือจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่ากัน

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share