คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 246/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยใช้อาวุธมีดจี้บังคับผู้เสียหายเข้าไปในรถยนต์ตู้แล้วผลักผู้เสียหายให้นอนหงายอยู่บนพื้นรถ เอาสก๊อตซ์เทปปิดปากและปิดตา ผู้เสียหายดิ้นใช้มือดึงสก๊อตซ์เทปที่ปิดตาออกและสก๊อตซ์เทปที่ปิดปากหลุดเอง ผู้เสียหายขอร้องไม่ให้จำเลยฆ่า จำเลยรับปากแต่จะนำผู้เสียหายไปด้วย จำเลยนำเชือกไนล่อนมาผูกมือโยงไปที่ขาทั้งสองข้าง เอากุญแจมือมาสวมใส่มือผู้เสียหายไว้นำผ้าเช็ดหน้ามาผูกปากและใช้สก๊อตซ์เทปปิดตาผู้เสียหาย จากนั้นได้ขับรถยนต์ออกไป ผู้เสียหายดิ้นจนกุญแจมือหลุดออก แก้เชือกและเปิดประตูรถจำเลยได้หยุดรถแล้วผู้เสียหายกระโดดรถหนีออกมาได้ ที่เกิดเหตุเป็นอาคารจอดรถของศูนย์สรรพสินค้า แม้เป็นเวลากลางคืนและผู้เสียหายไม่รู้จักจำเลยมาก่อนแต่ที่เกิดเหตุมีไฟฟ้าเปิดอยู่และผู้เสียหายยืนยันว่ามองเห็นกันได้ชัด เชื่อว่าผู้เสียหายมองเห็นจำเลยได้ชัดพอที่จะจำได้ว่าเป็นคนร้าย ที่ผู้เสียหายเบิกความว่าจำคนร้ายได้เพราะมีโอกาสเห็นหน้าคนร้ายได้ชัดเจนจึงมีเหตุผลน่าเชื่อและรับฟังได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสองประกอบกับมาตรา 335(1) (7), 340 ตรี, 310,371, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 13พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14, 15 คืนรถยนต์ตู้ของกลางให้เจ้าของคืนบัตรประจำตัวประชาชน และใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ชั่วคราวให้จำเลยและริบของกลางอื่นนอกจากนี้
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 310 วรรคแรก, 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ความผิดฐานทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพ จำคุก 3 ปี ความผิดฐานพาอาวุธเข้าไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันสมควร ปรับ100 บาท รวมจำคุกจำเลย 3 ปี ปรับ 100 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คืนรถยนต์ตู้หมายเลขทะเบียน 5ย-9576 กรุงเทพมหานคร ของกลางแก่เจ้าของ คืนบัตรประจำตัวประชาชนและใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ชั่วคราวแก่จำเลยของกลางอื่นให้ริบ ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า ให้ยกฟ้อง ส่วนรถยนต์ตู้หมายเลขทะเบียน 5 ย-9576 กรุงเทพมหานคร ของกลางคืนแก่เจ้าของคืนบัตรประจำตัวประชาชนและใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ชั่วคราวของกลางแก่จำเลย ของกลางอย่างอื่นให้ริบ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกามีว่า จำเลยกระทำความผิดฐานทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายและพาอาวุธปืนไปในเมืองโดยไม่มีเหตุอันควรหรือไม่ โจทก์มีนางสาวจิรพรรณ ณ ระนอง ผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายใช้อาวุธมีดจี้บังคับผู้เสียหายเข้าไปในรถยนต์ตู้แล้วผลักให้นอนหงายอยู่บนพื้นรถ เอาสก๊อตซ์เทปปิดปากและปิดตาผู้เสียหาย ผู้เสียหายดิ้นใช้มือดึงสก๊อตซ์เทปที่ปิดตาออกและปรากฏว่า สก๊อตซ์เทปที่ปิดปากหลุดเอง ผู้เสียหายขอร้องไม่ให้คนร้ายฆ่าคนร้ายรับปากแต่จะนำผู้เสียหายไปด้วย ต่อมาคนร้ายได้นำเชือกไนล่อนมาผูกมือมัดโยงไปที่ขาทั้งสองข้าง เอากุญแจมือมาสวมใส่มือผู้เสียหายไว้ นำผ้าเช็ดหน้ามาผูกปากและใช้สก๊อตซ์เทปปิดตา จากนั้นคนร้ายได้ขับรถออกไป ผู้เสียหายดิ้นจนกุญแจมือหลุดออกจากมือผู้เสียหายแก้เชือกที่ขาและเปิดประตูออก คนร้ายจึงได้หยุดรถแล้วผู้เสียหายได้กระโดดรถหนีไปแจ้งยามของที่จอดรถ พิจารณาคำเบิกความของผู้เสียหายแล้ว เห็นว่า ที่เกิดเหตุเป็นอาคารจอดรถของศูนย์สรรพสินค้าริเวอร์ซิตี้ แม้ขณะเกิดเหตุจะเป็นเวลากลางคืนและผู้เสียหายไม่รู้จักคนร้ายมาก่อน แต่ที่เกิดเหตุมีไฟฟ้าเปิดอยู่ผู้เสียหายยืนยันว่ามองเห็นกันได้ชัด ผู้เสียหายนอนหงายอยู่บนพื้นรถขณะสก๊อตซ์เทปที่ปิดตาและปากหลุดออกนั้น คนร้ายนั่งอยู่บนเบาะรถติดกับบริเวณที่ผู้เสียหายนอน ผู้เสียหายมองหน้าคนร้ายและคนร้ายก็มองผู้เสียหาย มีการพูดคุยกันโดยผู้เสียหายพูดขอร้องมิให้คนร้ายฆ่า คนร้ายก็พูดคุยด้วยโดยบอกว่าไม่ฆ่า แต่จะเอาผู้เสียหายไปด้วย จากนั้นคนร้ายจึงได้เอาสก๊อตซ์เทปปิดตาใหม่ ในช่วงเวลาที่สก๊อตซ์เทปที่ปิดตาปิดปากหลุดออกและผู้เสียหายพูดคุยกับคนร้ายนั้นแม้ประตูรถปิด รถไม่ได้เปิดไฟและกระจกรถยนต์ตู้ติดฟิล์มกรองแสงก็ตาม ไฟฟ้าบริเวณที่จอดรถซึ่งเปิดสว่างก็น่าที่จะส่องสว่างเข้าไปในรถพอจะมองเห็นกันได้บ้าง เมื่อผู้เสียหายอยู่ใกล้ชิดติดกันกับคนร้ายต่างคนก็ต่างมองซึ่งกันและกันและมีการพูดคุยกันด้วยเช่นนี้ น่าเชื่อว่าผู้เสียหายมองเห็นคนร้ายได้ชัดเพียงพอที่จะจำคนร้ายได้ ที่ผู้เสียหายเบิกความว่าจำคนร้ายได้เพราะมีโอกาสเห็นหน้าคนร้ายได้ชัดเจน จึงมีเหตุผลน่าเชื่อและรับฟังได้หลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจยึดรถยนต์ตู้ของกลางได้ ณ ที่จอดรถในที่เกิดเหตุพบบัตรประจำตัวประชาชนและใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ชั่วคราวของจำเลย เมื่อผู้เสียหายเห็นบัตรประจำตัวประชาชนและใบอนุญาตขับรถดังกล่าว ผู้เสียหายยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายภายหลังจากเกิดเหตุประมาณ 5-6 ชั่วโมง เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้ในทันทีที่ผู้เสียหายเห็นจำเลย ผู้เสียหายก็ยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้าย และในชั้นสอบสวนจำเลยก็ได้ให้การรับสารภาพ พาพนักงานสอบสวนไปชี้ที่เกิดเหตุและมีการถ่ายภาพการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพไว้ พฤติการณ์ต่าง ๆ ประกอบกับคำเบิกความของผู้เสียหายแสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายจำคนร้ายได้ว่าเป็นจำเลย ที่พันตำรวจโทโสภณชินพงสานนท์ และร้อยตำรวจเอกอาชวาคม ลีนานนท์ เบิกความแตกต่างกันเกี่ยวกับพฤติการณ์ในการจับกุมจำเลยและข้อเท็จจริงบางประการที่ศาลอุทธรณ์สงสัยนั้น เห็นว่า แม้พยานโจทก์ทั้งสองปากดังกล่าวจะเบิกความตามแตกต่างกันบางประการก็ตาม แต่ข้อแตกต่างกันดังกล่าวน่าจะเป็นเรื่องรายละเอียด ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะทำให้พยานหลักฐานของโจทก์ตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นเสียไปข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยได้กระทำความผิดฐานทำให้ผู้เสียหายปราศจากเสรีภาพในร่างกายและพาอาวุธไปในเมืองโดยไม่มีเหตุอันควรจริงตามที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น”.

Share