แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
บริษัท ฉ.ถูกศาลพิทักษ์ทรัพย์เด็ด ขาดวันที่ 27 กุมภาพันธ์2530 ประกาศหนังสือพิมพ์ลงวันที่ 24 มีนาคม 2530ประกาศราชกิจจานุเบกษาวันที่ 7 เมษายน 2530 บริษัท ฉ. เป็นหนี้ค่าภาษีบำรุงท้องที่ ปี พ.ศ. 2531 ซึ่งเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังบริษัท ฉ.ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ด ขาดแล้ว โจทก์ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ ไม่ทัน แต่ พ.ร.บ. ภาษีบำรุงท้องที่ฯ มาตรา 7กำหนดให้ผู้เป็นเจ้าของที่ดินในวันที่ 1 มกราคม ของปีใด มีหน้าที่สำหรับปีนั้นแสดงว่าผู้เป็นเจ้าของที่ดินต้องเสียภาษีที่ดินทุกปีเมื่อบริษัท ฉ. ยังเป็นเจ้าของที่ดินก็ต้องมีหน้าที่เสียภาษีกรณีนี้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 22 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องเข้าดำเนินการชำระหนี้ภาษี เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โต้แย้งสิทธิของโจทก์ดังนี้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้รับผิด.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า บริษัทเครดิตฟองซิเอร์เฉลิมโลก จำกัด เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ตามโฉนดเลขที่ 725 เลขที่ดิน 22 เนื้อที่ 40 ไร่2 งาน 90 ตารางวา ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 5 แขวงคลองสามประเวศเขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ซึ่งต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ ต่อมาในปีพ.ศ. 2531 บริษัทมิได้ยื่นชำระค่าภาษีภายในกำหนดเวลา เจ้าพนักงานของโจทก์จึงได้ทำการประเมินเรียกเก็บและแจ้งการประเมินไปยังจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เฉิลมโลกจำกัด ให้ชำระค่าภาษีบำรุงท้องที่จำนวน 1,934.40 บาท ภายใน 30 วันนับแต่วันที่จำเลยได้รับแจ้ง แต่จำเลยมิได้ชำระเงินค่าภาษีภายในกำหนด จึงต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มตาม มาตรา 45 (4) แห่งพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 ในอัตราร้อยละ 24 ต่อปีของจำนวนเงินค่าภาษีที่ต้องชำระ นับแต่วันที่ 19 กันยายน 2531 ถึงวันฟ้องคิดเป็นเงิน 154.75 บาท รวมเป็นเงินค่าภาษีบำรุงท้องที่ที่จำเลยต้องชำระ 2,089.15 บาท โจทก์ได้ทวงถามแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน 2,089.15 บาท กับให้จำเลยชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 24 ต่อปีของต้นเงินค่าภาษีที่ค้างชำระนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า หนี้ค่าภาษีบำรุงท้องที่เกิดขึ้นภายหลังจากศาลแพ่งได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์บริษัทเครดิตฟองซิเอร์เฉลิมโลกจำกัด เจ้าของที่ดินเด็ดขาดแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ค่าภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ. 2531 ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 21 ประกอบด้วยมาตรา 91 และมาตรา 94 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ค่าภาษีบำรุงท้องที่จำนวนเงิน 2,089.15 บาท พร้อมเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 24 ต่อปี ของต้นเงิน 1,934.40 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าหนี้ค่าภาษีรายนี้เป็นค่าภาษีบำรุงท้องที่ปี พ.ศ. 2531 การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินชอบด้วยกฎหมาย บริษัทเครดิตฟองซิเอร์เฉลิมโลก จำกัด ผู้มีหน้าที่เสียภาษีได้ถูกฟ้องล้มละลาย ศาลได้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2530 ตามคดีหมายเลขแดงที่ ล. 62/2530 ของศาลแพ่งและได้ประกาศหนังสือพิมพ์เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2530 ประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 7เมษายน 2530 โจทก์ฟ้องหลังจากศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์บริษัทเครดิตฟองซิเอร์เฉลิมโลก จำกัด เด็ดขาดแล้ว” ข้อต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระค่าภาษีหรือไม่ เห็นว่าตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 มาตรา 7กำหนดให้ผู้เป็นเจ้าของที่ดินในวันที่ 1 มกราคมของปีใด มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับปีนี้ ฉะนั้นผู้เป็นเจ้าของที่ดินจะต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ทุกปี สำหรับภาษีที่พิพาทรายนี้เป็นหนี้ค่าภาษีที่ได้เกิดขึ้นภายหลังที่บริษัทเครดิตฟองซิเอร์เฉลิมโลก จำกัด ถูกพิทักษ์ทรัพย์แล้ว การที่โจทก์จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในเวลาตามที่พระราชบัญญัติล้มละลายกำหนดไว้ย่อมทำไม่ได้ แต่การที่บริษัทเครดิตฟองซิเอร์เฉลิมโลก จำกัด ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว เมื่อยังเป็นเจ้าของที่ดินอยู่ในระหว่างนั้น ย่อมจะต้องมีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ เพียงแต่การถูกพิทักษ์ทรัพย์ ย่อมไม่สามารถจัดการทรัพย์สินโดยตนเองได้ จะต้องดำเนินการโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 22 ในพระราชบัญญัติดังกล่าว มิได้กำหนดมิให้ฟ้องเกี่ยวกับหนี้ที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายหลังจากถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ซึ่งเป็นหนี้ที่ไม่สามารถขอรับชำระหนี้ได้ การเกิดหนี้ขึ้นโดยผลของกฎหมายเช่นนี้เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องดำเนินการแทนบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เฉลิมโลก จำกัด เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการโต้แย้งสิทธิของโจทก์เกี่ยวกับภาษีรายนี้โจทก์ย่อมมีสิทธิให้รับผิดได้ ส่วนโจทก์จะได้รับชำระหนี้อย่างไรเป็นเรื่องของชั้นบังคับคดี ไม่ใช่เป็นกรณีที่จะนำมาอ้างว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง…”
พิพากษายืน.