แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ทางหลวงที่จะสร้างตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายเชื่อมถนนสุขุมวิท 39(พร้อมพงษ์) กับถนนเพชรบุรี พ.ศ. 2524 เป็นทางหลวงเทศบาลอันเป็นเรื่องที่อยู่ในกิจการของกรุงเทพมหานครจำเลยจะต้องดำเนินการ แต่จำเลยเป็นนิติบุคคลการดำเนินการต่าง ๆ ต้องดำเนินการโดย ผู้แทนทั้งหลายของจำเลย ดังนั้น การที่พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือบทกฎหมายกำหนดอำนาจไว้ให้เป็นของเจ้าหน้าที่ก็ดีก็เป็นการกำหนดตัวบุคคลผู้จะต้องปฏิบัติแทนนิติบุคคลนั้นในฐานะผู้แทนทั้งหลายในเมื่อการกระทำของผู้แทนทั้งหลายของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้โดยตรง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายเชื่อมถนนสุขุมวิท 39 (พร้อมพงษ์) กับถนนเพชรบุรีพ.ศ. 2524 ได้บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ คือ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะมิได้บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลยซึ่งอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในส่วนที่เกี่ยวกับการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เป็นอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ฉะนั้นการดำเนินการของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จึงถือมิได้ว่ากระทำในฐานะผู้แทนของจำเลยตามกฎหมาย นอกจากนี้ในการพิจารณาทำความตกลงเรื่องค่าทดแทนการกำหนดค่าทดแทนและการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินที่ถูกเวนคืนได้กระทำในรูปของคณะกรรมการดำเนินการตัดถนนทางหลวงเทศบาล ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับจำเลย ถือมิได้ว่าจำเลยได้กระทำอันเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยโจทก์และจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ทั้งสองฝ่ายไม่โต้เถียงกันนั้นได้ความว่า พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงเทศบาลสายเชื่อมถนนสุขุมวิท 39 (พร้อมพงษ์) กับถนนเพชรบุรี มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2524 ที่ดินที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนที่ถูกเวนคืนเพื่อการสร้างถนนสายดังกล่าวทั้งสองแปลงนั้นด้านหนึ่งติดถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แปลงโฉนดที่ 16192 มีเนื้อที่ 8 ไร่ 2 งาน4 ตารางวา ถูกเวนคืน 556 ตารางวา แปลงโฉนดที่ 16196เนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน 15 ตารางวา ถูกเวนคืน 4 ตารางวา คณะกรรมการพิจารณาทำความตกลงเรื่องค่าทดแทนที่ถูกเวนคืนดังกล่าวเป็นเงิน5,106,505 บาท แต่เจ้าของที่ดินไม่ยินยอม จำเลยจึงนำเงินค่าทดแทนจำนวนดังกล่าวไปวางไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์กรมบังคับคดี…
ปัญหาข้อแรกที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ในปัญหานี้จำเลยอ้างว่า ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่พิพาทกำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการ และตามบทกฎหมายที่เกี่ยวกับการเวนคืนเพื่อสร้างหรือขยายทางหลวง ก็บัญญัติให้อำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเวนคืนเป็นของเจ้าหน้าที่ จำเลยมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ทางหลวงที่จะสร้างตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวนั้นเป็นการสร้างทางหลวงเทศบาลอันเป็นเรื่องที่อยู่ในกิจการของกรุงเทพมหานครจำเลยจะต้องดำเนินการแต่จำเลยเป็นนิติบุคคลการดำเนินการต่าง ๆจึงต้องดำเนินการโดย ผู้แทนทั้งหลายของจำเลย ดังนั้นการที่พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือบทกฎหมายกำหนดอำนาจไว้ให้เป็นของเจ้าหน้าที่ก็ดีนั้นก็เป็นการกำหนดตัวบุคคลผู้จะต้องปฏิบัติแทนนิติบุคคลนั้นในฐานะผู้แทนทั้งหลาย ในเมื่อการกระทำของผู้แทนทั้งหลายของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้โดยตรง จำเลยจะอ้างว่าไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องด้วยนั้นไม่ได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน