แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยลักเอาอาวุธปืนของผู้เสียหายในลิ้นชักและใช้อาวุธปืนนั้นขู่บังคับผู้เสียหายให้ส่งทรัพย์อื่นให้อีก ถือว่าจำเลยได้กระทำโดยมีเจตนาอันแท้จริงต่อผลเพียงอย่างเดียว คือมุ่งประสงค์ต่อทรัพย์ทั้งหมดแต่ต้น การที่จำเลยลักอาวุธปืนและชิง เอาทรัพย์อื่นของผู้เสียหายอีกจึงเป็นการกระทำในคราวเดียวกันอันเป็นความผิดกรรมเดียว แม้โจทก์จะบรรยายแยกการกระทำผิดดังกล่าวของจำเลยมาในฟ้อง เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันและจำเลยให้การรับสารภาพก็ตาม ศาลจะลงโทษจำเลยหลายกรรมเป็นกระทงความผิดไม่ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน คือจำเลยลักอาวุธปืนพกของผู้เสียหายไปโดยทุจริต จำเลยลักเอาเงินสด30 บาท ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต โดยจำเลยใช้อาวุธปืนของผู้เสียหายที่ลักไปดังกล่าวข้างต้นขู่บังคับผู้เสียหาย จำเลยมีอาวุธปืนสั้นของผู้เสียหาย ซึ่งใช้ยิงได้ กับมีกระสุนปืนขนาดเดียวกันใช้ยิงได้ไว้ในความครอบครองของจำเลย โดยจำเลยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่และจำเลยพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวติดตัวไปในเมืองหมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 339, 340 ตรี, 91, 371 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14, 15พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525มาตรา 13 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7,8ทวิ, 72, 72ทวิ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2522มาตรา 5, 7 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7 ให้จำเลยคืนอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนหรือใช้ราคาอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน 8,000 บาท และเงินสด 30 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ ต่อมาเมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้วจำเลยขอถอนคำให้การเดิมที่ปฏิเสธ เป็นให้การรับสารภาพตามฟ้องทุกประการ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335, 339, 340 ตรี, 90, 91, 371 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศิจกายน 2514 ข้อ 14, 15 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 13พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526มาตรา 4 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8ทวิ, 72,72ทวิ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2522 มาตรา 5, 7คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม2519 ข้อ 3, 6, 7 เรียงกระทงลงโทษฐานมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งเป็นบทหนักตามมาตรา 90 จำคุก 3 ปี ฐานชิงทรัพย์โดยมีและใช้อาวุธปืนและใช้ยานพาหนะตามมาตรา 340 ตรี จำคุก15 ปี รวมโทษจำคุก 18 ปี จำเลยให้การรับสารภาพภายหลังสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 13 ปี 6 เดือน ให้จำเลยคืนอาวุธปืน เครื่องกระสุนปื หรือใช้ราคา 8,000 บาท กับคืนเงิน 30 บาทแก่ผู้เสียหาย
โจทก์ผู้เสียหาย ขอให้เรียงกระทงลงโทษจำเลยทั้ง 4 กระทง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 90 กับจำเลยผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ที่แก้ไขแล้ว มาตรา 72 จำคุก 2 ปี และให้ลงโทษตามมาตรา 72 ทวิ ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90ให้จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 18 ปี ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 12 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาว่าความผิดฐานลักอาวุธปืนและชิงทรัพย์เป็นความผิดต่างกรรมกันขอให้เรียงกระทงลงโทษ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…การที่จำเลยลักเอาอาวุธปืนของผู้เสียหายไป แล้วใช้อาวุธปืนนั้นขู่บังคับเอาทรัพย์อย่างอื่นของผู้เสียหายไปอีก จะเป็นความผิดสองกระทงดังที่โจทก์ฎีกามาหรือไม่ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามทางนำสืบของโจทก์ว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างด้วยกันกับผู้เสียหายขับรถยนต์มาจอดที่หน้าที่พัก แล้วจำเลยขอกุญแจเปิดลิ้นชักโต๊ะจากผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายส่งกุญแจให้จำเลยหยิบอาวุธปืนสั้นของผู้เสียหายจากลิ้นชักโต๊ะมาขู่ผู้เสียหายให้มอบเงิน 30 บาท และบุหรี่ 1 ซอง ให้แก่จำเลย พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ลักเอาอาวุธปืนของผู้เสียหายในลิ้นชักและใช้อาวุธปืนนั้นขู่บังคับผู้เสียหายให้ส่งทรัพย์อื่นให้อีก จำเลยได้กระทำโดยมีเจตนาอันแท้จริงต่อผลเพียงอย่างเดียว คือมุ่งประสงค์ต่อทรัพย์ทั้งหมดมาแต่ต้น การที่จำเลยลักอาวุธปืนและชิงเอาทรัพย์อื่นของผู้เสียหายอีกจึงเป็นการกระทำในคราวเดียวกันนั้นเอง อันเป็นความผิดกรรมเดียว หาทำให้การกระทำของจำเลยในคราวเดียวกันนั้นแยกเป็นความผิดฐานลักทรัพย์กรรมหนึ่งและชิงทรัพย์อีกกรรมหนึ่งดังฎีกาของโจทก์ไม่ แม้โจทก์จะบรรยายแยกการกระทำความผิดดังกล่าวของจำเลยมาในฟ้องเป็นข้อ (ก) และข้อ (ข) เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน และจำเลยให้การรับสารภาพก็ตาม ศาลจะลงโทษจำเลยหลายกรรม เป็นกระทงความผิดไม่ได้…”
พิพากษายืน.