แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าจ้างที่ค้างค่าจ้างในการที่ไม่บอกเลิกจ้างล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อน ค่าชดเชยค่าเสียหายและเงินที่โจทก์ออกทดรองไปก่อน จำเลยให้การว่าจำเลยไม่ได้ไล่โจทก์ออกจากงานแต่โจทก์ลาออกเองเนื่องจากทราบว่าจำเลยกำลังจะดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ในข้อหายักยอก โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชย ค่าเสียหายและค่าจ้างที่ไม่บอกเลิกจ้างล่วงหน้า ศาลแรงงานกลางจึงตั้งประเด็นวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ออกจากบริษัทจำเลยนั้นเป็นเพราะจำเลยเลิกจ้างโจทก์หรือว่าเพราะโจทก์ลาออกเอง แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยไล่โจทก์ออกมิใช่โจทก์ลาออกเอง ดังนี้ จะถือว่าศาลมิได้วินิจฉัยในประเด็นที่จำเลยได้ให้การต่อสู้ไว้เลยหาได้ไม่
เอกสารเรื่องเงินที่โจทก์ทดรองจ่ายเป็นเพียงภาพถ่ายอันเป็นสำเนาเอกสาร จำเลยแถลงไม่รับรองความถูกต้อง โจทก์มิได้แถลงว่าต้นฉบับมีอยู่หรือไม่ อยู่ที่ใด เหตุใดโจทก์จึงไม่อ้างมาแสดงต่อศาล ดังนี้ ไม่อาจรับฟังเอกสารดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา93
ค่าจ้างที่จำเลยต้องจ่ายให้โจทก์เนื่องจากเลิกจ้างโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา582 มิใช่ค่าจ้างตามบทนิยามในข้อ 2 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฯ จำเลยจึงไม่ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ตามข้อ31 แต่ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224
ค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46 และค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 49 เกิดขึ้นในทันทีที่นายจ้างเลิกจ้างเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้จ่ายเงิน 2 จำนวนนี้แก่โจทก์ ก็ย่อมได้ชื่อว่าผิดนัดแต่นั้นจึงต้องเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ในอัตราร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ แล้วจำเลยไม่จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ได้ฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลาง ศาลพิพากษาตามยอมให้จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ ต่อมาจำเลยบังคับให้โจทก์ลาออกเนื่องจากเหตุที่โจทก์ฟ้องจำเลย โจทก์ไม่ยอมลาออกจำเลยจึงบอกว่าโจทก์ไม่ต้องมาทำงานอีก ถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโจทก์ และเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การที่จำเลยเลิกจ้างนี้จำเลยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า และไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย ระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยโจทก์ได้จ่ายเงินทดรองไปในกิจการของจำเลย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างที่ไม่ได้บอกเลิกจ้างล่วงหน้า 8,893 บาท ค่าชดเชย20,000 บาท และค่าเสียหาย 40,020 บาทกับเงินที่โจทก์ออกทดรองไปก่อน5,272 บาท และโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีจากจำนวนเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับ นับแต่วันที่มีสิทธิได้รับจนกว่าจำเลยจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ไล่โจทก์ออกจากงาน โจทก์ลาออกเองเนื่องจากทราบว่าจำเลยกำลังดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย ค่าเสียหายและค่าจ้างที่ไม่ได้บอกเลิกจ้างล่วงหน้า สำหรับเงินทดรองนั้น จำเลยไม่ทราบและไม่รับรองว่าโจทก์ได้จ่ายไปจริงหรือไม่
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยไล่โจทก์ออกจากงาน เป็นการเลิกจ้างตามข้อ 46 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ เมื่อไม่ปรากฏว่าได้บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยจึงต้องรับผิดในค่าจ้างสำหรับการนี้ จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ว่าเหตุใดจึงเลิกจ้างโจทก์ รวมทั้งเหตุที่จำเลยจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย จึงฟังได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 49 และจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามข้อ 46 แห่งประกาศดังกล่าว และเชื่อว่าโจทก์ได้ออกเงินทดรองไป จำเลยจึงต้องรับผิด ค่าจ้างโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยร้อยละสิบห้าต่อปีตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 31 ส่วนค่าชดเชย ค่าเสียหายและเงินใช้คืนเงินทดรองนั้น โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พิพากษาให้จำเลยชำระค่าจ้างที่ไม่ได้บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า 8,893 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ชำระค่าชดเชย 20,000 บาทกับค่าเสียหาย 25,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ชดใช้เงินทดรองจ่าย 5,272 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยให้การต่อสู้คดีแต่เพียงว่า จำเลยไม่ได้ไล่โจทก์ออกจากงาน แต่โจทก์ลาออกเองเนื่องจากทราบว่าจำเลยกำลังดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ในข้อหาว่ายักยอกเงินของจำเลยไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย ค่าเสียหาย และค่าจ้างที่ไม่ได้บอกเลิกจ้างล่วงหน้าศาลแรงงานกลางจึงตั้งประเด็นวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ออกจากบริษัทจำเลยนั้นเป็นเพราะจำเลยเลิกจ้างโจทก์ดังที่โจทก์กล่าวอ้างหรือว่าเพราะโจทก์ลาออกเองดังที่จำเลยให้การ แล้ววินิจฉัยประเด็นนี้โดยฟังข้อเท็จจริงตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์ว่า จำเลยไล่โจทก์ออกจากบริษัทจำเลย มิใช่ว่าโจทก์ลาออกเองดังที่จำเลยให้การต่อสู้ ดังนี้ จะถือว่าศาลแรงงานกลางมิได้วินิจฉัยในประเด็นที่จำเลยได้ให้การต่อสู้ไว้เลยหาได้ไม่
เอกสารเรื่องเงินที่โจทก์ทดรองจ่าย โจทก์ระบุเป็นพยานเพิ่มเติมเมื่อเสร็จการสืบพยานโจทก์แล้ว โดยระบุไว้ในบัญชีพยานว่า สำเนาเอกสารของจำเลยพร้อมคำแปลมีอยู่ที่โจทก์ จำเลยแถลงไม่รับรองความถูกต้องของเอกสาร เมื่อจำเลยไม่ตกลงด้วยว่าสำเนาเอกสารนี้ถูกต้องแล้ว โจทก์ก็มิได้แถลงว่าต้นฉบับของเอกสารนี้มีอยู่หรือไม่ อยู่ที่ใด เหตุใดโจทก์จึงไม่อ้างมาแสดงต่อศาล ดังนั้น ศาลจึงไม่อาจรับฟังเอกสารซึ่งเป็นเพียงสำเนาคือภาพถ่ายเป็นพยานหลักฐานได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางที่ให้จำเลยรับผิดชดใช้เงินจำนวนนี้ก็เพราะอาศัยเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐาน เมื่อเอกสารนั้นต้องห้ามมิให้รับฟังเสียแล้ว จึงไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่จะวินิจฉัยให้จำเลยรับผิดชดใช้ให้โจทก์อีก
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 31 วรรคแรกมีความว่า “ถ้านายจ้างผิดนัดในการจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุด ให้นายจ้างจ่ายดอกเบี้ยแก่ลูกจ้างในระหว่างผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี”ค่าจ้างซึ่งจำเลยต้องจ่ายให้โจทก์เนื่องจากเลิกจ้างโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้านั้น ไม่ใช่ค่าจ้างตามบทนิยามนี้ หากแต่เป็นสินจ้างซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายแก่ลูกจ้างเป็นกรณีพิเศษตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 582 เมื่อจำเลยมิได้จ่ายให้ในเวลาที่เลิกสัญญา จึงต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามมาตรา 224 ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
ค่าชดเชยและค่าเสียหายตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานและพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ เป็นหนี้เงินซึ่งเกิดขึ้นในทันทีที่นายจ้างเลิกจ้าง เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้จ่ายเงิน 2 จำนวนนี้แก่โจทก์ ก็ย่อมได้ชื่อว่าผิดนัดนับแต่นั้น จึงต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นว่า ดอกเบี้ยสำหรับค่าจ้างที่ไม่ได้บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า 8,893 บาทนั้น ให้จำเลยชำระในอัตราร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี และที่ให้จำเลยชดใช้เงินทดรองจ่าย 5,272 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์นั้นให้ยกเสีย นอกจากที่แก้นี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง