คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2451/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มาตรา 77 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขแล้ว บัญญัติว่า ในเขตเลือกตั้งซึ่งมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มากกว่าหนึ่งคน ให้ผู้สมัครของพรรคการเมืองซึ่งได้คะแนนมากตามลำดับลงมาตามจำนวนที่จะพึงมีการเลือกตั้งได้เป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง เห็นได้ว่าไม่มีข้อความใดที่บัญญัติให้ผู้ที่ได้รับคะแนนต่ำถัดจากผู้ที่ได้รับคะแนนเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรคนสุดท้าย ให้เลื่อนขึ้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนผู้ที่ได้รับเลือกตั้ง ในกรณีที่ผู้ได้รับเลือกตั้งนั้นได้สิ้นสภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ดังนี้โจทก์ซึ่งได้คะแนนมากเป็นลำดับที่ 4 จึงไม่ได้เลื่อนขึ้นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่นเขตที่ 1 ซึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้จำนวน 3 คนเป็นลำดับที่ 3 แทน ค. ผู้สิ้นสภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๘ ศาลแขวงขอนแก่นมีคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนายแคล้ว มีกำหนด ๕ ปี ต่อมามีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๒๙ โจทก์และนายแคล้วสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น ในเขตเลือกตั้งที่ ๑ จำเลยมีคำสั่งไม่รับสมัครนายแคล้ว นายแคล้วยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่น ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งให้นายแคล้วเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ จำเลยจึงรับสมัครนายแคล้วเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง เมื่อการลงคะแนนเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยประกาศผลการเลือกตั้งสำหรับเขตเลือกตั้งที่ ๑ ของจังหวัดขอนแก่น มีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ๓ คน ตามคะแนนมากที่สุดเรียงลงมาคือ ๑. นายสุทัศน์ ๒. นายแคล้ว ๓. นายแพทย์สุวัฒน์ โจทก์ได้คะแนนเป็นลำดับที่ ๔ ต่อมาวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๒๙ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายแคล้วสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑ มาตรา ๑๐๓(๕) การที่นายแคล้วสมัครรับเลือกตั้งและเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งก็ดี และการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ดี ถือว่าสภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายแคล้วยังไม่เกิดขึ้นเลย เพราะนายแคล้วเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๒๑ มาตรา ๙๖(๓) ตั้งแต่เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๘ สภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายแคล้วจึงยังไม่เกิดขึ้นเลย การได้รับเลือกตั้งของนายแคล้วจึงไม่มีผลตามกฎหมาย ต้องถือว่าโจทก์เป็นผู้ได้คะแนนมากเป็นลำดับที่ ๓ เป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น ในเขตเลือกตั้งที่ ๑ ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๒๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๒๙ มาตรา ๗๗ วรรค ๒ เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๒๙ โจทก์ยื่นคำร้องต่อจำเลยเพื่อให้จำเลยออกหนังสือรับรองการได้รับเลือกตั้ง (ส.ส.๒๗) เพื่อโจทก์จะได้นำไปรายงานตัวต่อสภาผู้แทนราษฎร แต่จำเลยไม่จัดการให้ เป็นการได้แย้งสิทธิของโจทก์ ถือไม่ได้ว่าตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลงการที่จำเลยเสนอออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น แทนนายแคล้วเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้โจทก์เป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เขตเลือกตั้งที่ ๑ ในลำดับที่ ๓ ให้จำเลยออกหนังสือรับรองการเลือกตั้ง (ส.ส.๒๗) ให้แก่โจทก์ ให้จำเลยงดการออกพระราชกฤษฎีกาหรือดำเนินการใด ๆ ที่จะนำมาซึ่งการเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เขตเลือกตั้งที่ ๑
ในชั้นรับฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าตามมาตรา ๗๗ วรรค ๒ แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๒๒ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๒๙ มาตรา ๖ บัญญัติข้อความมาตรา ๗๗ วรรค ๒ ไว้ว่า “ในเขตเลือกตั้งซึ่งมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มากกว่าหนึ่งคนให้ผู้สมัครของพรรคการเมืองซึ่งได้คะแนนมากตามลำดับลงมาตามจำนวนที่จะพึงมีการเลือกตั้งได้ เป็นผู้ได้รับการเลือกตั้ง” เช่นนี้จะเห็นได้ว่าไม่มีข้อความใดที่บัญญัติให้ผู้ที่ได้รับคะแนนต่ำถัดจากผู้ที่ได้รับคะแนนเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนสุดท้าย ให้เลื่อนขึ้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนผู้ที่ได้รับเลือกตั้งในกรณีที่ผู้ได้รับเลือกตั้งนั้นได้สิ้นสภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว โจทก์ซึ่งได้คะแนนมากเป็นลำดับที่ ๔ จะต้องได้เลื่อนขึ้นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่นเขตที่ ๑ เป็นลำดับที่ ๓ นั้น นับว่าเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนของโจทก์เองเพราะไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดสนับสนุนให้ผู้ได้คะแนนต่ำเลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในกรณีเช่นนี้ได้ โจทก์ในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่นในเขตเลือกตั้งที่ ๑ ร่วมกับนายแคล้วย่อมมีสิทธิที่จะร้องคัดค้านการเลือกตั้งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗๘ แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๒๒ แต่โจทก์ก็หาได้ดำเนินการตามบทกฎหมายดังกล่าวไม่ จึงต้องถือว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัด ขอนแก่นในเขตเลือกตั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๒๙ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว แม้ต่อมาจะปรากฏว่าคณะกรรมการตุลาการรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายแคล้ว นรปติ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑ มาตรา ๑๐๓(๕) ก็ตาม โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิขอเลื่อนตนเองขึ้นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น ในเขตเลือกตั้งที่ ๑ เป็นลำดับ ๓ เนื่องจากนายแคล้ว สิ้นสภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าวได้แต่ประการใดเพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นเช่นนั้นได้ ฉะนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสี่ ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้โจทก์เป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น ในเขตเลือกตั้งที่ ๑ เป็นลำดับที่ ๓ ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๒๙
พิพากษายืน

Share