คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2450/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การเรียกเงินค่าหุ้นซึ่งยังจะต้องส่งอีกในแต่ละคราวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1120,1121เป็นดุลพินิจของกรรมการที่จะเรียกจากผู้ถือหุ้นเมื่อใดเป็นจำนวนเท่าใดก็ได้ตราบเท่าที่บริษัทยังคงดำรงอยู่ไม่ต้องเรียกภายใน10ปีนับแต่วันจดทะเบียนบริษัท

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดแล้ว ผู้คัดค้านมีหนังสือลงวันที่ 20 สิงหาคม 2534 ยืนยันให้ผู้ร้องชำระค่าหุ้นที่ผู้ร้องค้างชำระจำเลยอยู่จำนวน 360,750 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 มกราคม 2534เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ค่าหุ้นที่ค้างชำระดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2519 สิทธิเรียกร้องให้ชำระค่าหุ้นขาดอายุความแล้วขอให้มีคำสั่งยกคำสั่งยืนยันหนี้ของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ตามหลักฐานทางทะเบียนปรากฏว่าผู้ร้องถือหุ้นในบริษัทจำเลยอยู่จำนวน 481 หุ้น มูลค่าหุ้นละ1,000 บาท ชำระค่าหุ้นแล้วหุ้นละ 250 บาท ไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ร้องถือหุ้นแทนนางเสาวคนธ์ ผู้คัดค้านมีหนังสือทวงหนี้ไปยังผู้ร้องเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2534 สิทธิเรียกร้องให้ชำระค่าหุ้นจึงยังไม่ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงซึ่งไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ทุนจดทะเบียน1,000,000 บาท แบ่งออกเป็น 1,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1,000 บาทในชั้นยื่นคำขอจดทะเบียนบริษัท ผู้ถือหุ้นได้ใช้เงินค่าหุ้นแล้วหุ้นละ 250 บาท เฉพาะผู้ร้องถือหุ้นอยู่ในบริษัทจำเลยจำนวน481 หุ้น ปรากฏตามคำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัด และบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเอกสารหมาย ล.2 และ ล.1 ตามลำดับ
ฎีกาข้อหลังของผู้ร้องมีว่า สิทธิเรียกร้องค่าหุ้นของบริษัทจำเลยเริ่มตั้งแต่วันที่จดทะเบียนบริษัท การที่ไม่เรียกให้ผู้ร้องชำระค่าหุ้นเป็นเวลานานถึง 14 ปี คดีขาดอายุความแล้ว เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1120 บัญญัติว่า”บรรดาเงินค่าหุ้นซึ่งยังจะต้องส่งอีกนั้น กรรมการจะเรียกให้ผู้ถือหุ้นส่งใช้เสียเมื่อใดก็ได้ “และมาตรา 1121 บัญญัติว่า”การเรียกเงินค่าหุ้นแต่ละคราวนั้น ท่านบังคับว่าให้ส่งคำบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ต่ำกว่ายี่สิบเอ็ดวันด้วยจดหมายส่งลงทะเบียนไปรษณีย์และผู้ถือหุ้นทุกคนจะต้องใช้เงินตามจำนวนที่เรียกนั้นสุดแต่กรรมการจะได้กำหนดไปว่าให้ส่งไปยังผู้ใด ณ ที่ใดและเวลาใด” เมื่อพิจารณาบทบัญญัติสองมาตราดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่า การที่จะเรียกเงินค่าหุ้นซึ่งยังจะต้องส่งอีกในแต่ละคราวนั้น เป็นดุลพินิจของกรรมการที่จะเรียกจากผู้ถือหุ้นเมื่อใด เป็นจำนวนเท่าใดก็ได้ตราบเท่าที่บริษัทยังคงดำรงอยู่ หาใช่ว่าต้องเรียกภายในกำหนด10 ปี นับแต่วันจดทะเบียนบริษัทดังที่ผู้ร้องฎีกาไม่ คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า กรรมการบริษัทจำเลยไม่เคยส่งคำบอกกล่าวเรียกเงินค่าหุ้นซึ่งยังจะต้องส่งอีกไปยังผู้ถือหุ้น ดังนั้น เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์บริษัทจำเลยเด็ดขาดเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีอำนาจตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 22 และมาตรา 119 เรียกให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยชำระเงินค่าหุ้น ซึ่งยังจะต้องส่งอีกทั้งหมดได้ สิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านจึงยังไม่ขาดอายุความฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง โดยมิได้กำหนดให้ผู้ร้องชำระเงินค่าหุ้นแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วยนั้นยังไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 119 วรรคสามสมควรแก้ไข”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ผู้ร้องชำระค่าหุ้นจำนวน 360,750 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24มกราคม 2534 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้คัดค้าน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share