คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 245/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เอกสารคำแปลฉบับภาษาอังกฤษของใบมรณบัตรและใบสูติบัตรมีสำเนาเอกสารเป็นภาษาท้องถิ่นของประเทศนั้นแนบท้ายและมีตราประทับของสถานเอกอัครราชทูตไทยประทับรับรอง ศาลจึงรับฟังข้อความในฉบับที่แปลเป็นภาษาอังกฤษได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยผิดสัญญาซื้อขายสินค้าปลาแห้งที่โจทก์ซึ่งอยู่ที่ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาสั่งซื้อจากจำเลยซึ่งอยู่ในประเทศไทย เนื่องจากจำเลยส่งมอบสินค้าคนละประเภทและมีสิ่งเจือปนไม่ปลอดภัยแก่การบริโภคให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องให้แก่โจทก์รวมเป็นเงิน 26,017.07 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 24,206.55 ดอลลาร์สหรัฐ นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง โจทก์ถึงแก่ความตาย นายเบซิล แอนโทนี่ ยื่นคำร้องอ้างว่า ผู้ร้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ ขอเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ผู้มรณะเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
จำเลยยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางทำการไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ผู้ร้องมีนางสาวยลฤดี โอภาเฉลิมพันธ์ ทนายโจทก์และทนายผู้ร้อง เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อต้นปี 2548 พยานได้รับแจ้งจากนายเบซิล แอนโทนี่ ผู้ร้องว่า โจทก์ถึงแก่ความตายเมื่อปลายปี 2547 ผู้ร้องประสงค์จะดำเนินคดีนี้ต่อไป ต่อมาผู้ร้องได้ส่งใบมรณบัตรของโจทก์และใบสูติบัตรของผู้ร้องซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นของประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาพร้อมคำแปลเป็นภาษาอังกฤษให้พยาน โดยมีเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโคลัมโบลงลายมือชื่อรับรองตามใบมรณบัตรของโจทก์ตามเอกสารหมาย ร.1 และใบสูติบัตรของผู้ร้องตามเอกสารหมาย ร.3 พยานได้นำใบมรณบัตรและใบสูติบัตรดังกล่าวไปให้กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทยรับรองว่าเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโคลัมโบ ที่ลงลายมือชื่อรับรองในเอกสารดังกล่าวเป็นเจ้าหน้าที่ของสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงโคลัมโบ ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาจริง พยานได้แปลใบมรณบัตรและใบสูติบัตรเป็นภาษาไทยตามคำแปลเอกสารหมาย ร.2 และ ร.4 นอกจากนี้ผู้ร้องยังมีนางดรุณี หวังสุนทราพร เป็นพยานเบิกความว่าพยานรู้จักโจทก์และผู้ร้องมานานกว่า 16 ปี เนื่องจากติดต่อค้าขายและไปมาหาสู่กัน ผู้ร้องเป็นบุตรชายคนเล็กของโจทก์ บุตรของพยานเคยไปเยี่ยมผู้ร้องที่ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาและได้ถ่ายภาพร่วมกัน ตามภาพถ่ายหมาย ร.12 ชายที่ใส่เสื้อสีขาวคือผู้ร้อง ส่วนชายที่ใส่เสื้อสีฟ้าคือบุตรของพยาน เห็นว่า แม้ผู้ร้องจะไม่ได้มาเบิกความด้วยตนเองและชื่อของโจทก์ที่แปลจากภาษาท้องถิ่นของประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกามาเป็นภาษาอังกฤษในใบมรณบัตรของโจทก์ตามเอกสารหมาย ร.1 และในใบสูติบัตรของผู้ร้องตามเอกสารหมาย ร.3 จะสะกดคำกลางของชื่อที่ผู้ร้องอ้างว่าเป็นชื่อของโจทก์ว่า CHO และ KU ต่างกันก็ตาม แต่ผู้ร้องมีนางดรุณี หวังสุนทราพร มาเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า ผู้ร้องเป็นบุตรคนเล็กของโจทก์ โจทก์กับผู้ร้องร่วมประกอบธุรกิจนำเข้าสินค้าอาหารทะเลตากแห้งจากประเทศไทยไปประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ตรงกับที่ปรากฏในหนังสือรับรองการจดทะเบียนสถานธุรกิจเอกสารหมาย ร.7 ซึ่งระบุว่าโจทก์กับผู้ร้องเป็นหุ้นส่วนอยู่ด้วย นอกจากนี้ยังได้ความจากพยานดังกล่าวว่า พยานก็ประกอบธุรกิจส่งออกสินค้าอาหารทะเลตากแห้งไปต่างประเทศ เคยติดต่อค้าขายและไปมาหาสู่กับโจทก์และผู้ร้อง จึงรู้จักและเคยเห็นตัวโจทก์และผู้ร้อง ทั้งโจทก์และครอบครัวก็เคยมาพบพยานเมื่อมาติดต่อธุรกิจและท่องเที่ยวในประเทศไทยด้วยกัน พยานปากนี้ยืนยันว่าลายมือชื่อในหนังสือเดินทางเอกสารหมาย ร.11 เป็นลายมือชื่อของโจทก์ เพราะพยานเคยเห็นหนังสือเดินทางของโจทก์มาก่อน เนื่องจากแต่เดิมการชำระราคาสินค้า โดยการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตจะต้องใช้หนังสือเดินทางประกอบ ซึ่งเมื่อศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศตรวจสอบลายมือชื่อของโจทก์ในหนังสือเดินทาง และลายมือชื่อของโจทก์ในใบแต่งทนายโจทก์ฉบับลงวันที่ 14 ตุลาคม 2547 ในสำนวนคดีเปรียบเทียบกับลายมือชื่อของผู้แจ้งการเกิดในใบสูติบัตรของผู้ร้องฉบับที่ทำเป็นภาษาท้องถิ่นช่องที่ 10 เอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 2 ซึ่งระบุว่าผู้แจ้งการเกิดเป็นบิดาของผู้ร้อง ก็เห็นได้ว่าลายมือชื่อคล้ายกันและใช้คำกลางชื่อเป็นตัวอักษร TH ทั้งเมื่อนับอายุของผู้แจ้งเกิดจากวันเกิดที่ระบุในช่องผู้แจ้งในใบสูติบัตรผู้ร้องซึ่งระบุว่าผู้แจ้งเกิดปี ค.ศ.1933 หากนับมาจนถึงปี ค.ศ.2004 ซึ่งเป็นปีที่โจทก์ถึงแก่ความตาย ผู้แจ้งการเกิดซึ่งระบุว่าเป็นบิดาของผู้ร้องก็มีอายุ 71 ปี เท่ากับอายุของโจทก์ที่ระบุในใบมรณบัตรเอกสารหมาย ร.1 จึงเชื่อว่าผู้แจ้งการเกิดของผู้ร้องซึ่งในใบสูติบัตรระบุว่าเป็นบิดาของผู้ร้องก็คือโจทก์ คดีจึงฟังได้ว่าผู้ร้องเป็นบุตรของโจทก์ ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนโจทก์ผู้มรณะได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 วรรคหนึ่ง, 43 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า สำเนาเอกสารหมาย ร.1 ร.3 และ ร.9 ถึง ร.11 ที่ผู้ร้องอ้างส่งศาลล้วนเป็นภาษาท้องถิ่นของประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาที่ไม่มีการรับรองสำเนาความถูกต้องของเอกสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในคำแปลฉบับภาษาอังกฤษมีเพียงลายมือชื่อผู้แปลและประทับตรารับรองของสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโคลัมโบ ประเทศสาธารณรัฐสังคมประชาธิปไตยศรีลังกา และของเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทย ก็เป็นเพียงการรับรองลายมือชื่อผู้แปลเอกสาร ไม่ได้รับรองความถูกต้องของข้อความในเอกสาร นั้น เห็นว่า เอกสารคำแปลฉบับภาษาอังกฤษโดยเฉพาะใบมรณบัตรและใบสูติบัตรล้วนมีสำเนาเอกสารเป็นภาษาท้องถิ่นแนบท้ายโดยเย็บติดเข้าด้วยกันและมีตราประทับของสถานเอกอัครราชทูตไทยดังกล่าวประทับรับรอง จึงเชื่อว่าข้อความฉบับที่เป็นภาษาอังกฤษแปลตรงกับข้อความที่เป็นภาษาท้องถิ่นในเอกสารที่แนบ และรับฟังข้อความในฉบับที่แปลเป็นภาษาอังกฤษนั้นได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยกคำร้องของผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น”
พิพากษากลับ อนุญาตให้ผู้ร้องเข้ามาเป็นคู่ความแทนโจทก์ผู้มรณะ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.

Share