คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2449/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ และขับไล่จำเลยจำเลยให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย และครอบครองตลอดมาดังนี้ เป็นการโต้เถียงกันในสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ แม้โจทก์จะกล่าวมาในฟ้องว่าที่ดินพิพาทที่จำเลยครอบครองมีเนื้อที่ประมาณ 28 ไร่เศษ แต่เมื่อในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยขอให้ทำแผนที่พิพาทปรากฏตามแผนที่พิพาทว่าที่ดินพิพาทที่จำเลยครอบครองมีเนื้อที่ 17 ไร่ 1 งาน 45 ตารางวาจึงต้องถือว่าที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 17 ไร่ 1 งาน 45 ตารางวาในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตีราคาที่ดินพิพาทตามคำให้การของจำเลยในราคาไร่ละ 10,000 บาท ซึ่งโจทก์มิได้คัดค้านและมิได้ฎีกาโต้เถียงราคาทรัพย์ที่พิพาทที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดดังกล่าวจึงถือว่าโจทก์ยอมรับในข้อนี้ ดังนี้จึงเป็นคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาเป็นเงิน 173,625 บาทหาใช่เนื้อที่ 28 ไร่ เป็นเงิน 280,000 บาทไม่ คดีจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา248 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณารวมกับคดีหมายเลขแดงที่416/2533 ของศาลชั้นต้น ซึ่งคดีดังกล่าวถึงที่สุดโดยศาลชั้นต้นไม่รับฎีกา จึงคงมีปัญหามาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินมือเปล่าเนื้อที่ประมาณ100 ไร่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลโปงตาลอง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยโจทก์ซื้อมาจากนายเทพ ทินนะลักษณ์ เมื่อวันที่16 มิถุนายน 2531 ปรากฏตามสำเนาหนังสือสัญญาซื้อขายท้ายฟ้องที่ดินดังกล่าวนายเทพได้ครอบครองทำประโยชน์ติดต่อกันมาเป็นเวลา20 ปีเศษ และมอบให้นายสังเวียน ทองบัวศรี เป็นผู้ครอบครองดูแลแทน โดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องและโต้แย้งสิทธิจนกระทั่งขายให้แก่โจทก์ แต่เมื่อซื้อแล้วโจทก์เข้าครอบครองได้ไม่ครบเนื้อที่เพราะจำเลยได้ครอบครองที่ดินส่วนหนึ่งของโจทก์ เนื้อที่ประมาณ28 ไร่เศษ ปรากฏตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินแล้ว แต่จำเลยอ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินโดยซื้อมาจากนายสังเวียน ทำให้โจทก์เสียหายขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากการปลูกพืชไร่หรือให้คนอื่นเช่าในอัตราไร่ละ 500 บาทต่อปี คิดเป็นเงิน 14,000 บาทต่อปี ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องในบริเวณเส้นสีแดงหมาย ก. ข. ค. และ ง.เนื้อที่ประมาณ 28 ไร่ เป็นของโจทก์ ให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทของโจทก์ ห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป และให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ 14,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้ซื้อที่ดินตามฟ้องมาจากนายเทพทินนะลักษณ์ สัญญาซื้อขายเป็นเอกสารเท็จที่โจทก์กับนายเทพร่วมกันทำขึ้นเพื่อบังคับจำเลย นายเทพไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินมาก่อน เดิมบิดานายเทพซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้วกับนายสังเวียนทองบัวศรี เป็นผู้ร่วมกันบุกเบิกและก่นสร้างมาด้วยกันเมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้ว ต่อมาบิดานายเทพได้ขายที่ดินส่วนของตนไปหมดเนื่องจากชรามากไม่สามารถที่จะทำไร่ทำสวนต่อไปได้ ส่วนที่ดินของนายสังเวียนนั้น นายสังเวียนได้แบ่งขายให้แก่จำเลยเนื้อที่22 ไร่ ในราคา 30,000 บาท เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2524 จำเลยได้ครอบครองที่ดินด้วยความสงบเปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่วันทำสัญญาติดต่อกันมากว่า 7 ปีแล้ว โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งสิทธิและจำเลยได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ตลอดมา โจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ซื้อที่ดินจากผู้ไม่มีสิทธิจึงไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน โจทก์ไม่เคยบอกกล่าวให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองไม่ได้ละเมิดสิทธิโจทก์ จึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ปัจจุบันที่ดินพิพาทราคาไร่ละ10,000-15,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทตามแผนที่ท้ายฟ้อง ห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ 5,600 บาทนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ซื้อที่ดินจากนายเทพทินนะลักษณ์ แต่เข้าครอบครองที่ดินได้ไม่ครบเนื้อที่เพราะจำเลยได้ครอบครองที่ดินพิพาทส่วนหนึ่งของโจทก์ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทที่จำเลยครอบครองเป็นของโจทก์ และขับไล่จำเลย จำเลยให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยโดยจำเลยซื้อจากนายสังเวียน ทองบัวศรี และครอบครองตลอดมา ดังนี้ เป็นการโต้เถียงกันในสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์สำหรับราคาทรัพย์หรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทนั้น แม้โจทก์จะกล่าวในฟ้องว่าที่ดินพิพาทที่จำเลยครอบครองมีเนื้อที่ประมาณ 28 ไร่เศษแต่เมื่อในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยขอให้ทำแผนที่พิพาท ศาลชั้นต้นอนุญาต ซึ่งปรากฏตามแผนที่พิพาทเอกสารหมายจ.2 ที่เจ้าพนักงานที่ดินทำขึ้นตามที่โจทก์และจำเลยนำชี้ว่าที่ดินพิพาทที่จำเลยครอบครองมีเนื้อที่ 17 ไร่ 1 งาน 45 ตารางวาจึงต้องถือว่าที่ดินที่พิพาทกันมีเนื้อที่ 17 ไร่ 1 งาน 45 ตารางวาในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตีราคาที่ดินพิพาทตามคำให้การของจำเลยซึ่งโจทก์มิได้คัดค้านในราคาไร่ละ 10,000 บาท ทั้งปรากฏตามสำเนาหมายนัดของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2534 ที่นัดโจทก์และจำเลยมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ได้ระบุว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งให้จำเลยเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์โดยกำหนดทุนทรัพย์ไร่ละ 10,000 บาท ซึ่งโจทก์ได้รับหมายนัดดังกล่าวแล้ว แต่มิได้คัดค้าน และมิได้ฎีกาโต้เถียงเกี่ยวกับราคาทรัพย์ที่พิพาทที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดไร่ละ 10,000 บาทดังกล่าวจึงถือว่าโจทก์ยอมรับในข้อนี้ ดังนั้น ที่โจทก์ขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์และขับไล่จำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงเป็นคดีที่มีราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาเป็นเงิน 173,625 บาท หาใช่เนื้อที่ 28 ไร่ เป็นเงิน280,000 บาทไม่ คดีจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่านายสังเวียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทอันแท้จริง จึงมีอำนาจขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยได้ เมื่อจำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ต่อมา จึงได้ซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากผู้ไม่มีสิทธิย่อมไม่มีอำนาจขอให้ขับไล่จำเลยได้ โจทก์ฎีกาว่านายสังเวียนอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของนายเทพโดยนายเทพให้เป็นผู้ดูแลแทน มิได้อยู่ในฐานะเป็นเจ้าของและไม่เคยโต้แย้งแสดงสิทธิว่าเป็นเจ้าของ จึงไม่มีอำนาจขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย จำเลยไม่มีสิทธิดีกว่านายสังเวียน จึงอยู่ในฐานะผู้อาศัยสิทธิเช่นเดียวกัน และจำเลยก็ไม่เคยโต้แย้งแสดงสิทธิว่าเป็นเจ้าของสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนายสังเวียนกับจำเลยมีเหตุพิรุธสงสัยโดยข้อความในสัญญาและพยานบุคคลที่นำสืบขัดกันฟังไม่ได้ว่ามีการทำสัญญากันจริง โจทก์มีพยานเบิกความสนับสนุนฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ฎีกาของโจทก์เป็นการโต้เถียงดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในการรับฟังพยานหลักฐานอันเป็นข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของโจทก์

Share