คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2449/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์กับ ช. หัวหน้าแผนกมีการขัดแย้งกันในการทำงานทำให้งานในแผนกนั้นระส่ำระสายเป็นที่เสียหายแก่จำเลยผู้เป็นนายจ้าง จึงเป็นเหตุจำเป็นและสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ การที่จำเลยไม่เลิกจ้าง ช. ด้วยก็เพราะจำเลยเห็นว่าหากให้คนทั้งสองออกจากตำแหน่งจะเกิดความเสียหายแก่งานของจำเลย จึงต้องให้คนใดคนหนึ่งออกเพียงคนเดียว และเห็นว่าควรเอา ช. ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกไว้ เห็นได้ว่าจำเลยมีเหตุผลสมควรที่ปฏิบัติเช่นนั้น ฉะนั้น การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ผู้เดียวโดยไม่ได้ดำเนินการอย่างใดกับ ช. จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำในตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าแผนกบุคคล จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานโดยโจทก์ไม่มีความผิด จำเลยอ้างว่าโจทก์ไม่ถูกกับหัวหน้าแผนกจึงให้โจทก์ออกโดยจะจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับเดือนถัดไป 1 เดือนซึ่งโจทก์ยังไม่ได้รับมา จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม จึงขอเรียกค่าเสียหายขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จ่ายค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 115,640 บาท

จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยถูกต้องและยุติธรรม ได้ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานโดยครบถ้วนแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย เหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์เกิดความขัดแย้งทั้งในด้านส่วนตัวและเกี่ยวกับการปฏิบัติงานกับ ช. หัวหน้าแผนกบุคลากร ซึ่งโจทก์เป็นผู้ช่วย ทำให้งานในแผนกเกิดความล่าช้าและเสียหายเนือง ๆ นอกจากนั้นโจทก์ยังขาดมนุษยสัมพันธ์ที่ดีในการติดต่อกับแผนกอื่น ๆ ในสถาบันจำเลย ทำให้แตกความสามัคคี จำเลยได้ประชุมใหญ่เจ้าหน้าที่บริหารของจำเลยแล้ว เห็นสมควรที่จะต้องเลิกจ้างโจทก์ โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายสูงเกินไป ทั้งโจทก์ได้รับค่าชดเชยกับเงินเดือนล่วงหน้าไปแล้ว โจทก์ไม่มีความเสียหายใด ๆ ที่จะให้จำเลยชดใช้

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ขัดแย้งกับ ช. ทำให้งานในแผนกบุคลากรระส่ำระสาย แต่กรณีขัดแย้งนี้ทั้งโจทก์และ ช. ต่างมีส่วนผิดด้วยกันการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ผู้เดียวโดยไม่ปรากฏว่าดำเนินการอย่างใดกับ ช. นับว่าไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหาแก่โจทก์เป็นเงิน 12,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์กับ ช. หัวหน้าแผนกมีการขัดแย้งกันในการทำงาน ทำให้งานในแผนกบุคลากรระส่ำระสายเป็นที่เสียหายแก่จำเลย จึงมีเหตุจำเป็นและสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์การที่ ช. มีส่วนทำให้เกิดความขัดแย้งมีส่วนผิดเช่นเดียวกับโจทก์ มิใช่เหตุที่โจทก์ไม่พึงถูกเลิกจ้าง ทั้งเหตุที่จำเลยไม่เลิกจ้าง ช. ด้วย เพราะจำเลยเห็นว่าหากให้ทั้งสองคนออกจากตำแหน่งจะเกิดความเสียหายแก่งานของจำเลย จึงต้องให้คนหนึ่งคนใดออกเพียงคนเดียว และเห็นว่าควรเอา ช. ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกไว้ จึงเห็นได้ว่าจำเลยมีเหตุผลสมควรที่จะปฏิบัติเช่นนั้น ฉะนั้น การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ผู้เดียวโดยไม่ได้ดำเนินการอย่างใดกับ ช. จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share