คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2448/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การบังคับคดีจะเสร็จลงแล้วนั้นต้องเป็นเรื่องที่ไม่มีการกระทำอย่างไรต่อไปอีกในการบังคับคดีคดีนี้โจทก์ยังไม่ได้รับเงินจากการขายทอดตลาดจึงยังมีเรื่องที่ต้องดำเนินการต่อไปตามระเบียบและข้อบังคับการบังคับคดีอีกขั้นตอนหนึ่งซึ่งยังไม่เสร็จดังนั้นแม้ศาลชั้นต้นจะมีหนังสือแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของจำเลยแก่ผู้ซื้อทรัพย์ก็ตามกรณียังถือไม่ได้ว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา296วรรคสอง

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากจำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมแก่โจทก์ โจทก์จึงนำยึดที่ดินของจำเลยออกขายทอดตลาด จำเลยยื่นคำร้องว่า ศาลได้มีคำพิพากษาตามยอมให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ ถ้าจำเลยผิดนัดยอมให้โจทก์บังคับคดียึดทรัพย์ที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ หากไม่พอยอมให้โจทก์ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้จนครบ ต่อมาโจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์จำนองของจำเลยเป็นที่ดิน รวม 10 แปลง ออกขายทอดตลาดเมื่อ วันที่ 16กรกฎาคม 2534 ให้แก่นายประวิทย์ ตันติพิวัฒนสกุล ผู้เสนอราคาสูงสุดเป็นเงิน 2,800,000 บาท โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งการยึดและวันขายทอดตลาดตลอดจนคำสั่งศาลให้จำเลยทราบ จำเลยได้ตรวจสำนวนเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2536 พบว่า การปิดหมายแจ้งการยึดและวันขายทอดตลาด เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดไว้ ณ บ้านเลขที่ 58/3ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร ซึ่งมิได้เป็นภูมิลำเนาของจำเลย จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 33 หมู่ที่ 2ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ดังนั้น การแจ้งวันขายทอดตลาด การขายทอดตลาดทรัพย์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสองและมาตรา 306 ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการบังคับคดี ยกเลิกการขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2534 และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองทั้งสิบแปลงของจำเลยใหม่และในระหว่างไต่สวนขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินทั้งสิบแปลงหากมีการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนองทั้งสิบแปลงขอให้มีคำสั่งให้ผู้ซื้อทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินจำนองทั้งสิบแปลงจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า การขายทอดตลาดทรัพย์จำนองเป็นไปโดยสุจริตและชอบด้วยระเบียบข้อบังคับของกรมบังคับคดี โดยการขายทอดตลาดได้สำเร็จบริบูรณ์เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ตกลงเคาะไม้ขายให้แก่นายประวิทย์ ตันติพิวัฒนสกุล ผู้เสนอราคาสูงสุด และได้มีการชำระราคาครบถ้วนแล้ว และศาลชั้นต้นได้มีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระโขนง ให้จดทะเบียนระงับการจำนองและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้ซื้อเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม2534 การบังคับคดีจึงเสร็จเรียบร้อยแล้ว จำเลยไม่ได้ยื่นคำร้องคัดค้านภายใน 8 วัน นับจากวันทราบการฝ่าฝืนและก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง จำเลยจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดีขอให้ยกคำร้อง
ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า การส่งหมายแจ้งการยึดและวันขายทอดตลาดชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้ซื้อทรัพย์ซื้อทรัพย์โดยสุจริตจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีและตามคำสั่งศาล จึงได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์แล้ว ไม่จำเป็นต้องคืนทรัพย์ให้แก่เจ้าของที่ดินเว้นแต่จะชดใช้ราคาที่ดินแก่ผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งปัจจุบันราคาไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 10,000 บาท ขอให้ยกคำร้อง
ระหว่างไต่สวนคำร้อง ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยยื่นคำร้องเข้ามาเมื่อการบังคับคดีเสร็จสิ้นลงแล้วจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดีได้ มีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลย
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนคำร้องลงวันที่ 16 มีนาคม 2536 ของจำเลยแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี
ผู้ซื้อทรัพย์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนองคือที่ดินทั้ง 10 แปลง ของจำเลยเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2534 และกรมบังคับคดีมีหนังสือฉบับลงวันที่ 19 สิงหาคม 2534 ถึงผู้พิพากษาศาลชั้นต้นแจ้งว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการขายทอดตลาดที่ดินจำเลยแล้วและศาลชั้นต้นมีหนังสือฉบับลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2534 แจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครสาขาพระโขนง จดทะเบียนระงับการจำนองและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์จำเลยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดเมื่อวันที่16 มีนาคม 2536 ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งการยึดและวันขายทอดตลาดให้จำเลยทราบ โดยจำเลยมาตรวจสำนวนเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2536ทราบว่าการปิดหมาย แจ้งการยึดและวันขายทอดตลาด ณ ที่ซึ่งไม่ใช่ภูมิลำเนาของจำเลย ขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาดและดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยใหม่ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพระราชบัญญัติยังมิได้รับเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไป ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นนี้มีว่า จำเลยยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสองหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การบังคับคดีจะเสร็จลงแล้วนั้นต้องเป็นเรื่องที่ไม่มีการกระทำอย่างไรต่อไปอีกในการบังคับคดีคดีนี้โจทก์ยังไม่ได้รับเงินจากการขายทอดตลาดไปจึงยังมีเรื่องที่ต้องดำเนินการต่อไป ตามระเบียบและข้อบังคับการบังคับคดีอีกขั้นตอนหนึ่งซึ่งยังไม่เสร็จ ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะได้มีหนังสือแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระโขนง ให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของจำเลยแก่ผู้ซื้อทรัพย์ก็ตาม กรณีก็ยังถือไม่ได้ว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง ส่วนที่ผู้ซื้อฎีกาว่าผู้ซื้อทรัพย์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทไปแล้ว เพราะเป็นการซื้อโดยสุจริตจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีและโดยคำสั่งศาลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 จำเลยจะร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดไม่ได้นั้น เห็นว่า หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยเป็นการดำเนินการที่ฝ่าฝืนกฎหมายและศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการบังคับคดี ย่อมส่งผลให้การขายทอดตลาดสิ้นไป ดังนี้ จำเลยย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share