คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2447/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อู่ซ่อมเรืออยู่ติดกับท่าเทียบเรือที่ริมทะเลสาบ มีเสาปักอยู่ห่างจากตลิ่งราว 23 เมตร ตรงเขตติดต่ออู่ซ่อมเรือนี้มีรางเหล็ก3 รางวางเรียบขนานกันบนไม้หมอนจากอู่เรือถึงริมตลิ่งและต่อเรื่อยลงไปตามพื้นดินในทะเลสาบอีกประมาณ 30 เมตรใช้เป็นรางสำหรับวางสาลี่นำเรือขึ้นลงอู่ ปากทางเข้าอู่อีกด้านหนึ่งก็ปักเสาติดเครื่องหมายอู่เรือห่างตลิ่งราว 15 เมตรโจทก์นำเรือยนต์จับปลาขึ้นซ่อมในอู่ซ่อมเรือนี้ ขณะที่เรือของโจทก์ยังอยู่บนคานซ่อมจำเลยเป็นนายเรือผู้ควบคุมเรือยนต์เดินทะเลรู้อยู่แล้วว่ารางเหล็กคานเรือของอู่ซ่อมเรือนั้นทอดลึกลงไปในทะเลสาบด้วย จะนำเรือเข้าเทียบท่าเทียบเรือได้ถือท้ายล้ำเข้าไปในเขตอู่ซ่อมเรือ ท้องเรือจึงชนเกยขึ้นไปบนรางเหล็กท่อนกลางทำให้รางคดงอเคลื่อนหลุดจากไม้หมอน ไม้หมอนฉีกแตกใช้สาลี่ลงตามรางไม่ได้ต้องเสียเวลาซ่อมเปลี่ยนราง เป็นเหตุให้เรือของโจทก์ต้องค้างอยู่บนอู่ พฤติการณ์ของจำเลยดังนี้ถือว่าเป็นความประมาทจำเลยจะอ้างเหตุว่าเป็นเพราะรางเหล็กคานเรือรุกล้ำทางสาธารณะทั้งที่จำเลยรู้อยู่แล้วหาได้ไม่ และเมื่อเรือโจทก์ซ่อมเสร็จแล้วนำลงจากอู่ไม่ได้เพราะรางเหล็กที่จะบรรทุกสาลี่ชำรุดจากผลการกระทำโดยประมาทของจำเลย ต้องตกค้างอยู่จนกว่าจะซ่อมเปลี่ยนรางเสร็จทำให้โจทก์ขาดรายได้จากการออกเรือจับสัตว์น้ำในระยะเวลานั้นความเสียหายของโจทก์จึงเป็นผลและสัมพันธ์กับการละเมิดของจำเลยโดยตรง จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ และหนี้นี้เกิดแต่มูลละเมิด โจทก์หาต้องบอกกล่าวทวงถามล่วงหน้าไม่

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องเป็นใจความว่า นายถาวร ตุนภรณ์ โจทก์สำนวนแรกเป็นเจ้าของเรือยนต์ห้องเย็นเดินทะเลชื่อ ศรีปราชญ์พานิช ๒ นายสวัสดิ์ กังสนันท์ โจทก์สำนวนหลังเป็นเจ้าของเรือห้องเย็นเดินทะเลชื่อศรีโปร่งฟ้า โจทก์ทั้งสองได้นำเรือดังกล่าวว่าจ้างขึ้นคานรับการซ่อมแซมตามปกติที่อู่เรือสินสุคนธ์ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงกับท่าเรือของบริษัทสินธ์ทองขนส่ง จำกัด นายถาวรโจทก์นำเรือขึ้นคานเมื่อวันที่๒๗ มกราคม ๒๕๑๐ กำหนดซ่อมเสร็จนำเรือลงจากอู่วันที่ ๒๙ เดือนเดียวกันนายสวัสดิ์โจทก์นำเรือขึ้นคานเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๑๐ กำหนดซ่อมเสร็จนำเรือลงในวันที่ ๒๘ เดือนเดียวกัน จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ทำหน้าที่เป็นนายเรือผู้ควบคุมเรือยนต์เดินทะเลชื่อสินธุทองนาวาของจำเลยที่ ๒ รับจ้างบรรทุกสินค้าเมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๑๐ จำเลยที่ ๑ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ ได้นำเรือสินธุทองนาวาเข้าเทียบท่าบริษัทสินธ์ทองขนส่ง จำกัด โดยประมาท เป็นเหตุให้เรือยนต์ที่จำเลยที่ ๑ควบคุมแล่นไปชนรางเหล็กคานเรือเสียหาย ไม่สามารถใช้ถอยเรือลงสู่ทะเลสาบได้ เรือศรีปราชญ์พานิช ๒ ต้องเสียเวลาอยู่บนอู่ถึง ๑๗ วันเรือศรีโปร่งฟ้า ๑๘ วัน ขาดประโยชน์ไม่สามารถนำเรือออกหารายได้ตามปกติคิดเป็นเงินวันละ ๓,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๒ ในฐานะนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๕๑,๐๐๐ บาท แก่นายถาวรโจทก์และ ๕๔,๐๐๐ บาท แก่นายสวัสดิ์โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๑๐ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ได้เป็นลูกจ้าง ไม่ได้กระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ กรณีที่เรือสินธุทองนาวา ชนเหล็กคานเรือนั้นไม่ได้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ ๑ เรือสินธุทองนาวาชนเหล็กคานเรือไม่ได้ชนเรือโจทก์ทั้งสอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ค่าเสียหายสูงเกินความจริง ฟ้องเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่นายถาวรโจทก์ ๑๕,๐๐๐ บาท นายสวัสดิ์โจทก์ ๑๖,๐๐๐ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปี และใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า สำหรับประเด็นเรื่องละเมิดและความรับผิดนั้นได้ความว่าจำเลยที่ ๑ รู้จักอู่เรือสินสุคนธ์ซึ่งอยู่เขตติดต่อทางด้านทิศเหนือของท่าเรือบริษัทสินธ์ทองขนส่ง จำกัด ที่จำเลยที่ ๑ นำเรือสินธุทองนาวาเข้าเทียบท่าดีอยู่ก่อนแล้ว ทั้งได้เคยนำเรือขึ้นคาน รู้ว่ารางเหล็กคานเรือของอู่สินสุคนธ์นั้นลึกลงไปในทะเลสาบอีกด้วย คราวที่จำเลยนำเรือเข้าเทียบท่าแล้วไปชนรางเหล็กคานใต้น้ำก็ได้ความจากจำเลยที่ ๑ ว่า หัวเรือที่จำเลยที่ ๑ ถือท้ายล้ำเข้าไปในเขตอู่เรือ ๑ เมตรเศษ ได้เบาเครื่องหยุดเดินเครื่องแล้ว ขณะเรือลอยลำรู้สึกว่าท้องเรือสดุดจึงให้สัญญานเดินเครื่องถอยหลังเข้าเทียบท่า ภาพถ่ายหมาย ค. ที่โจทก์อ้าง ปรากฏรูปด้านหัวเรือสินธุทองนาวาเบียดเสาหลักเขตของอู่จนเอนลู่เข้าหาด้านในจำเลยที่ ๑ ก็รับว่าเป็นภาพเรือที่จำเลยที่ ๑ ควบคุมในวันเกิดเหตุ และว่าเสาต้นตั้งตรง (ทางซ้ายของภาพ) เป็นเสาเขตท่าเรือต้นเอนเป็นเสาเขตอู่ซึ่งทั้ง ๒ เสานี้โจทก์นำสืบว่าปักอยู่เสมอในระดับเดียวกัน ได้ความว่ารางเหล็กใต้น้ำที่ถูกชนเสียหายอยู่ลึกใต้ระดับน้ำประมาณ ๗-๘ ฟุต จำเลยที่ ๑รับว่าในเที่ยวเกิดเหตุ เรือสินธุทองนาวาที่จำเลยที่ ๑ เป็นนายเรือควบคุมบรรทุกสินค้าเต็มลำเรือกินน้ำลึกประมาณ ๘ ฟุต พิเคราะห์ขณะเกิดเหตุเรือที่จำเลยที่ ๑ ควบคุมบรรทุกน้ำหนักมากกว่าปกติ เรือจึงกินน้ำลึกจำเลยรู้ดีอยู่แล้วว่าหน้าอู่เรือสินสุคนธ์มีคานรางเหล็กอยู่ใต้น้ำ จำเลยที่ ๑ยังนำเรือแล่นเลยท่าเทียบ หัวเรือล้ำและเบียดจนเสาเขตอู่เรือเอนเป็นเหตุให้ชนคานเหล็กใต้น้ำเสียหาย พฤติการณ์ของจำเลยฟังได้ว่าเป็นความประมาทจะอ้างเหตุเพราะรางเหล็กคานเรือของอู่รุกล้ำทางน้ำสาธารณะทั้งที่รู้อยู่แล้วหาได้ไม่ที่จำเลยที่ ๒ อ้างเหตุว่าไม่ต้องร่วมรับผิด เพราะขณะเกิดเหตุได้ให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดอ่าวไทยขนส่งเช่าเรือสินธุทองนาวาไป จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดอ่าวไทยขนส่ง ก็คงมีแต่ตัวจำเลยที่ ๒ เบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีหลักฐานอื่นใดสนับสนุน ห้างหุ้นส่วนอ่าวไทยขนส่งจะมีตัวตนอยู่จริงเพียงใดหรือไม่ก็ไม่มีหลักฐานแสดง ตามสำนวนคดีแพ่งของศาลจังหวัดสงขลาหมายเลขแดงที่ ๔/๒๕๑๑ ระหว่าง นายสุศาสตร์สุคนธะตามร์ โจทก์ นายทองใบ กุชนันท์ ที่ ๑ นายณรงค์ ฉัตรดอกไม้ไพร ที่ ๒ จำเลย จำเลยถูกฟ้องกรณีเรือสินธุทองนาวาชนรางเหล็กคานเรือคราวเดียวกันนี้จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ในเรื่องให้เช่า กลับฟ้องแย้งเรียกค่าที่เรือเสียหายต้องซ่อมเพราะการชนรางเหล็ก และผลที่สุดก็ยอมตกลงรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในคดีนั้น รูปคดีฟังได้ว่าจำเลยที่ ๒ ใช้เรือสินธุทองนาวารับส่งสินค้าโดยมีจำเลยที่ ๑ เป็นนายท้ายผู้ควบคุมเรือ การที่จำเลยที่ ๑นำเรือเข้าจอดเทียบท่าเพื่อรับส่งสินค้าและเรือได้ชนรางเหล็กคานเรือของโจทก์โดยประมาทเช่นนี้ เป็นการกระทำในทางการที่จ้าง จำเลยที่ ๒ จึงต้องร่วมรับผิดในผลละเมิดที่จำเลยที่ ๑ ได้กระทำไป
ส่วนในเรื่องค่าเสียหาย โจทก์มีนายสุศาสตร์ สุคนธะตามร์ เจ้าของอู่นางจงจิตต์ จารุพันธ์ ผู้จัดการอู่ในขณะเกิดเหตุ นายเล็ก อับดุลลี และนายนวม เหมสุกรี คนงานของอู่เป็นพยานประกอบคำเบิกความของโจทก์ว่าได้นำเรือขึ้นคานซ่อมเครื่องและตอกหมันเล็กน้อยตามปกติ เรือศรีโปร่งฟ้าของนายสวัสดิ์ กังสนันท์ โจทก์ซ่อมเสร็จและกำหนดจะนำลงจากอู่ในวันที่๒๘ มกราคม ๒๕๑๐ ส่วนเรือศรีปราชญ์พานิช ๒ ของนายถาวร ตุนภรณ์ โจทก์ก็ซ่อมเสร็จตามกำหนดและจะนำลงได้ในวันที่ ๒๙ เดือนเดียวกัน เรือโจทก์เป็นเรืออวนห้องเย็นใช้สำหรับจับสัตว์น้ำในท้องทะเล นำขึ้นซ่อมเล็กน้อยก่อนนำออกทะเลในคราวต่อไป แต่นำลงจากอู่ไม่ได้ เพราะรางเหล็กคานเรือที่จะบรรทุกสาลี่นำลงชำรุดจากผลการกระทำการโดยประมาทของจำเลยที่ ๑ ต้องตกค้างอยู่บนอู่ถึง ๑๗ และ ๑๘ วันตามลำดับ ขาดรายได้ที่ควรจะหาได้จากการออกเรือจับสัตว์น้ำในทะเลในระหว่างระยะเวลาที่ค้างอยู่บนคานเรือในอู่ ความเสียหายของโจทก์จึงเป็นผลและสัมพันธ์กับการละเมิดของจำเลยโดยตรง ไม่มีเหตุที่จำเลยจะไม่ต้องรับผิดทั้งเป็นหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด หาจำต้องบอกกล่าวทวงถามล่วงหน้าไม่ ส่วนจำนวนค่าเสียหายที่ศาลล่างกำหนดให้จำเลยชดใช้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยว่าเป็นจำนวนสมควรกับความเสียหายที่โจทก์ได้รับจากผลการละเมิดของจำเลยศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน โจทก์ทั้งสองสำนวนมิได้แก้ฎีกา จึงไม่ให้ค่าทนายความชั้นฎีกา

Share