แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยตำแหน่งนักการภารโรงเรียกและรับเงินจากบริษัท อ. เป็นค่าจัดการโอนย้ายและติดตั้งโทรศัพท์ตามหมายเลขของ ป. ให้แก่บริษัทดังกล่าว แล้วไม่นำเงินไปชำระแก่ ป. เป็นเหตุให้ ป. ไม่ดำเนินการโอนโทรศัพท์ให้การกระทำของโจทก์เป็นการแสวงหาผลประโยชน์จากผู้ที่จะขอใช้บริการของจำเลยโดยมิชอบและเป็นการกระทำในเรื่องที่นอกเหนือจากตำแหน่งหน้าที่ เป็นที่เสื่อมเสียและอาจเกิดความเสียหายแก่จำเลย ถือได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบปฏิบัติงานของจำเลยที่กำหนดว่าประพฤติตนไม่เหมาะสมซึ่งจำเลยมีอำนาจเลิกจ้างโจทก์ได้ และการกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(3) อีกด้วย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยเพิกถอนคำสั่งเลิกจ้าง รับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิม หากรับกลับเข้าทำงานไม่ได้ให้ใช้ค่าเสียหาย ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามฟ้อง
จำเลยให้การว่า เลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ประพฤติตนไม่เหมาะสมตามระเบียบปฏิบัติงานของจำเลย เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่โจทก์เรียกและรับเงินจากบริษัทแอ็คเมนเฟอร์นิคอน จำกัด เป็นค่าจัดการโอนย้ายและติดตั้งโทรศัพท์หมายเลขของนายประเทศ รมยานนท์ ให้แก่บริษัทดังกล่าว แล้วไม่นำเงินไปชำระแก่นายประเทศ เป็นเหตุให้นายประเทศไม่ดำเนินการโอนโทรศัพท์ให้ ภายหลังเมื่อบริษัทฯไปร้องเรียนกล่าวหาโจทก์ต่อจำเลย โจทก์จึงได้ดำเนินการให้นายประเทศโอนโทรศัพท์ให้นั้น ถือได้ว่าโจทก์ประพฤติตนไม่เหมาะสม เป็นการฝ่าฝืนระเบียบปฏิบัติงานของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแต่การที่โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบดังกล่าวยังไม่ถึงขั้นเป็นกรณีร้ายแรงจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การเลิกจ้างพนักงานของจำเลยรวมทั้งโจทก์จะต้องเป็นกรณีที่ได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง แต่ในกรณีของโจทก์นั้น โจทก์ไม่ได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์หาได้ไม่ จำเลยต้องเพิกถอนคำสั่งเลิกจ้าง รับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมและใช้ค่าเสียหายนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามระเบียบปฏิบัติงานองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยว่าด้วยการจ้างและเลิกจ้างคนงานประจำและคนงานชั่วคราว พ.ศ. 2521 ข้อ 8วรรคแรก ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะจำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ระบุว่า “องค์การโทรศัพท์ฯ จะเลิกจ้างคนงานประจำและคนงานชั่วคราวทุกประเภทเมื่อใดก็ได้ หากประพฤติตนไม่เหมาะสมหรือปฏิบัติงานไม่เป็นผลดีหรือหมดความจำเป็นในการจ้างโดยไม่มีข้อผูกพันใด ๆ ทั้งสิ้น”เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ได้กระทำการอันเป็นการประพฤติตนไม่เหมาะสมดังที่ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยมาแล้ว เช่นนี้ จึงเป็นเหตุที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้แล้วตามระเบียบปฏิบัติงานของจำเลยในข้อดังกล่าวซึ่งหาจำต้องเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่
จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์รับเงินจำนวน 50,000 บาท จากบริษัทแอ็คเมนเฟอร์นิคอน จำกัด เป็นค่าโอนย้ายและติดตั้งโทรศัพท์หมายเลข3915250 ของนายประเทศซึ่งจะโอนให้แก่บริษัทแอ็คเมนเฟอร์นิคอน จำกัดแต่โจทก์นำเงินดังกล่าวไปให้นายประเทศไม่ครบ เป็นเหตุให้นายประเทศไม่โอนโทรศัพท์ให้ เป็นกรณีที่โจทก์อาศัยการเป็นผู้ปฏิบัติงานของจำเลยหลอกลวงให้บุคคลอื่นหลงเชื่อว่าตนเองสามารถดำเนินการในเรื่องนี้ได้เพื่อรับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นการไม่เหมาะสม อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เป็นกรณีร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยมีตำแหน่งหน้าที่เป็นนักการภารโรง การที่โจทก์เรียกและรับเงินจากบริษัทแอ็คเมนเฟอร์นิคอน จำกัด เป็นค่าโอนย้ายติดตั้งโทรศัพท์ของนายประเทศที่จะโอนให้แก่บริษัทดังกล่าว แล้วไม่นำเงินดังกล่าวไปชำระให้แก่นายประเทศ เป็นการแสวงหาผลประโยชน์จากผู้ที่จะขอใช้บริการของจำเลยโดยมิชอบและเป็นการกระทำในเรื่องที่นอกเหนือจากตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์เป็นที่เสื่อมเสียและอาจเกิดความเสียหายแก่จำเลยในการให้บริการแก่ผู้ที่จะขอใช้โทรศัพท์ การกระทำของโจทก์เป็นการประพฤติตนไม่เหมาะสม ซึ่งมีระเบียบปฏิบัติงานองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยว่าด้วยการจ้างและเลิกจ้างคนงานประจำและคนงานชั่วคราว พ.ศ. 2521 ข้อ 8 ให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ ทั้งการกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(3) อีกด้วย จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีพร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.