คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2444/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์มิได้ทำและนำบัญชีมาแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าคงเหลือเมื่อสิ้นปี เจ้าพนักงานประเมินจึงมีสิทธิที่จะถือว่าสินค้าที่โจทก์ซื้อมาได้ขายหมดไปแต่ ละปี ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินนำเอายอดเงินที่อ้างว่าสินค้าที่โจทก์ซื้อมาได้ขายหมดไปแต่ละปีมาคำนวณภาษีและหักค่าใช้จ่ายให้ตามความจำเป็นและสมควร โดยนำเอามาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรมาใช้บังคับโดยอนุโลมจึงชอบแล้ว
เมื่อโจทก์ตกลงยินยอมให้เจ้าพนักงานประเมินคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยให้หักค่าใช้จ่ายตาม มาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับ ที่ 11) พ.ศ. 2502 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว (ฉบับ ที่ 70) พ.ศ. 2520 ที่กำหนดให้นำมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรมาใช้บังคับโดยอนุโลมแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 80 ตาม มาตรา 8 วรรคแรก (25) ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินที่ให้โจทก์เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้นและให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กับขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการยึดทรัพย์ ซึ่งจำเลยได้ยึดไว้ก่อนฟ้อง
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์เฉพาะข้อ ๒.๒ และ ๒.๓ ซึ่งเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลภาษีอากรกลางรับอุทธรณ์ของโจทก์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลภาษีอากรกลางได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนศาลภาษีอากรกลางฟังข้อเท็จจริงในเบื้องต้นจากพยานหลักฐานในสำนวนว่า เมื่อระหว่างปีภาษี พ.ศ. ๒๕๒๓ และ พ.ศ. ๒๕๒๔ โจทก์ประกอบการค้าไม้อัด ประตูไม้อัด และสินค้าเบ็ดเตล็ดและในปีดังกล่าวโจทก์นำเงินได้ที่ได้จากการค้าดังกล่าวไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ ๘๐ ครั้นต่อมาเจ้าพนักงานประเมินสำนักงานสรรพากรจังหวัดศรีสะเกษได้ทำการตรวจสอบการเสียภาษีของโจทก์ในปีภาษีดังกล่าวและให้โจทก์แสดงหลักฐานเกี่ยวกับสินค้าคงเหลือ (ไม้อัด) สิ้นปี พ.ศ. ๒๕๒๓ และ พ.ศ. ๒๕๒๔โจทก์ไม่สามารถแสดงได้เพราะไม่ได้ทำไว้ เจ้าพนักงานประเมินจึงถือว่าสินค้าไม้อัดและสินค้าอื่น ๆ ที่โจทก์ซื้อมาในปีดังกล่าวได้ขายหมดไปทั้งสองปี และนำเอายอดเงินที่อ้างว่าโจทก์ขายสินค้าทั้งสองปีมาคำนวณภาษีและหักค่าใช้จ่ายให้ตามความจำเป็นและสมควรโดยนำมาตรา ๖๕ ทวิและ ๖๕ ตรี มาใช้บังคับโดยอนุโลม แล้วแจ้งให้โจทก์เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มพร้อมเงินเพิ่มสำหรับปีภาษี พ.ศ. ๒๕๒๓ และพ.ศ. ๒๕๒๔ ดังปรากฏตามแบบแจ้งการประเมินตามเอกสารหมายจล.๑๓ แผ่นที่ ๔๙, ๕๐ โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งดังกล่าวแล้วเห็นว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินไม่ชอบ จึงได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณื ตามเอกสารหมาย จ.๓๘แผ่นที่ ๑๗-๒๒ คณะกรรมการดังกล่าวได้วินิจฉัยแล้วตามเอกสารหมายจล.๑๓ แผ่นที่ ๕๑, ๕๒ ซึ่งโจทก์ก็ยังไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยดังกล่จึงได้นำคดีมาฟ้อง
ที่โจทก์อุทธรณ์ในข้อ ๒.๒ ว่า โจทก์ไม่ต้องจัดทำบัญชีพิเศษตามประกาศของอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้และภาษีการค้า(ฉบับที่ ๒) การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการเรียกเก็บภาษีซ้ำซ้อนกัน พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อโจทก์มิได้ทำและนำบัญชีมาแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าคงเหลือเมื่อสิ้นปีพ.ศ. ๒๕๒๓ และ พ.ศ. ๒๕๒๔ เจ้าพนักงานประเมินจึงมีสิทธิที่จะถือว่าสินค้าที่โจทก์ซื้อมาได้ขายหมดไปแต่ละปีทั้งสิงปี นอกจากนี้ศาลภาษีอากรกลางยังฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนอีกว่าโจทก์ตกลงยินยอมให้เจ้าพนักงานประเมินคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยให้หักค่าใช้จ่ายตามมาตรา ๘ วรรคสอง แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๐๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๕แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว (ฉบับที่ ๗๐) พ.ศ. ๒๕๒๐ ที่กำหนดให้นำมาตรา ๖๕ ทวิ และ ๖๕ ตรี แห่งประมวลรัษฎากรมาใช้บังคับโดยอนุโลมซึ่งศาลฎีกาต้องถือตามข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้โจทก์จึงไม่มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ ๘๐ ตามมาตรา ๘ วรรคแรก (๒๕) แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวดังที่โจทก์ฟ้อง
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ในข้อ ๒.๓ ว่า นางรสสุคนธ์ เลาหมนตรีจะมีอำนาจประเมินภาษีโจทก์ได้ก้แต่โดยอนุมัติของอธิบดีกรมสรรพากรเท่านั้น แต่ตามพฤติการณ์แห่งคดีนี้จำเลยหาได้นำสืบหรือแสดงหลักฐานการมีอำนาจโดยชอบของนางรสสุคนธ์ไม่นั้น เห็นว่า แม้โจทก์เพิ่มกล่าวอ้างความข้อนี้มาในชั้นอุทธรณ์ก็เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ ตามพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบนั้น เห็นได้ว่านางรสสุคนธ์มิใช่ผู้ประเมินภาษีของโจทก์แต่หลักฐานต่าง ๆ เช่นหนังสอแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามเอกสารหมาย จล.๑๓ แผ่นที่ ๔๙ และ ๕๐ นั้น ระบุไว้ชัดว่าผู้ประเมินภาษีรายนี้คือนายอุดม เพิ่มพูนวิวัฒน์ สรรพากรจังหวัดศรีสะเกษอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
พิพากษายืน.

Share