แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงโดยบรรยายฟ้องว่าจำเลยร่วมกันหลอกลวงเอาโฉนดที่ดินของโจทก์ไปตั้งแต่ประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน 2494 ดังนี้ความผิดฐานฉ้อโกงโฉนดสำเร็จตั้งแต่จำเลยได้โฉนดจากโจทก์ไป แม้โจทก์จะได้บรรยายฟ้องต่อไปด้วยว่า เมื่อจำเลยได้โฉนดไปแล้วได้ร่วมกันให้จำเลยที่ 2 โอนรับมรดกและต่อมาจึงโอนใส่ชื่อของจำเลยที่ 1 ก็เห็นได้ว่าเป็นการบรรยายให้เห็นพฤติการณ์ไม่สุจริตของจำเลยเท่านั้น มิใช่ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดอีกกระทงหนึ่ง หรือเป็นการกระทำความผิดต่อเนื่องกับความผิดฐานฉ้อโกงดังกล่าวข้างต้น ความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี อายุความสำหรับความผิดตามมาตรานี้จึงมีเพียง 10 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(3) โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2522 เป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี นับแต่วันกระทำความผิด ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตราดังกล่าว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(6)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน 2494 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันหลอกลวงเอาโฉนดที่ดินมรดกเลขที่ 5221 ไปจากบิดาโจทก์ เมื่อได้โฉนดดังกล่าวไปแล้วในเดือนพฤศจิกายน 2494 นั้นเอง จำเลยได้ร่วมกันมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 โอนรับมรดก แล้วเดือนมีนาคม 2497 จำเลยทั้งสองร่วมกันทุจริตโอนที่ดินตามโฉนดดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 โจทก์ในฐานะทายาทได้รับความเสียหายขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 83
ระหว่างไต่สวนมูลฟ้องศาลชั้นต้นสั่งงดไต่สวน แล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ฟ้องเกิน 10 ปี นับแต่วันกระทำผิด ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี คดีดังกล่าวนี้จะต้องได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนด 10 ปีนับแต่วันกระทำความผิดตามมาตรา 95(3) คดีนี้ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยร่วมกันทุจริตเพทุบายหลอกลวงเอาโฉนดที่ดินของโจทก์เลขที่ 5221 ไปจากบิดาโจทก์ แล้วจำเลยร่วมกันร้องขอโอนใส่ชื่อจำเลยที่ 2 คนเดียวในโฉนดแล้วจำเลยที่ 2 โอนโฉนดที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์เสียที่ดินส่วนของโจทก์ไป โจทก์ทราบการกระทำของจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2522 และโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2522 ศาลฎีกาเห็นว่าตามฟ้องของโจทก์ดังกล่าวปรากฏว่าโจทก์กล่าวหาจำเลยทั้งสองกระทำความผิดเฉพาะฐานฉ้อโกงเอาโฉนดเลขที่ 5221 ของโจทก์ไปเท่านั้น ส่วนข้อความในฟ้องที่ว่าจำเลยทั้งสองได้โฉนดไปจากโจทก์แล้วได้ดำเนินการโอนรับมรดก และโอนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 นั้น เป็นการบรรยายฟ้องให้เห็นพฤติการณ์ไม่สุจริตของจำเลยทั้งสองเท่านั้น หาใช่เป็นฟ้องที่กล่าวหาว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดอีกกระทงหนึ่ง หรือเป็นการกระทำความผิดต่อเนื่องกับความผิดฐานฉ้อโกงโฉนดดังกล่าวข้างต้นไม่ เมื่อการกระทำความผิดของจำเลยเป็นความผิดฐานฉ้อโกงโฉนดของโจทก์ ดังนั้น การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองจะสำเร็จเป็นความผิดฐานฉ้อโกงได้ด้วยการได้โฉนดเลขที่ 5221 ของโจทก์ไปและปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้โฉนดเลขที่ 5221 ไปจากนายเงินและโจทก์เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2494 ซึ่งเป็นวันกระทำความผิดฐานฉ้อโกงในคดีนี้ แต่โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2522 เกินสิบปี คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น สิทธินำคดีมาฟ้องของโจทก์จึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(6) แม้โจทก์จะอ้างว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองหลังจากรู้เรื่องความผิดภายในสามเดือนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ก็ตาม ก็ไม่ทำให้โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองได้เพราะสิทธิฟ้องของโจทก์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 96 ต้องอยู่ภายใต้บังคับ มาตรา 95 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
พิพากษายืน