แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คดีเดิม พนักงานอัยการฟ้องโจทก์เป็นจำเลยในข้อหาบุกรุกโดยจำเลยขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมและเบิกความในคดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าโจทก์มีความผิดตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องศาลฎีกาพิพากษายืน ต่อมาโจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ในข้อหาฟ้องเท็จและเบิกความเท็จในคดีก่อน ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานฟ้องเท็จและเบิกความเท็จ ดังนี้ การที่จำเลยยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ในคดีเรื่องเดิมไม่เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จอีกกรรมหนึ่งเพราะเป็นการกระทำโดยมีเจตนาให้ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษโจทก์ตามที่จำเลยได้ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการไว้ ถือว่าเป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องเป็นกรรมเดียวกับที่จำเลยได้ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการไว้ตั้งแต่ศาลชั้นต้น จำเลยเบิกความเท็จในคดีเรื่องเดิมรวมสองครั้ง ครั้งแรกเบิกความไม่จบปาก ศาลมีคำสั่งให้เลื่อนไปซักค้านต่อในครั้งต่อไปข้อความที่เบิกความครั้งแรกและครั้งหลังก็ต่อเนื่องกัน คำเบิกความของจำเลยในครั้งหลังเจตนาที่จะให้โจทก์ในคดีเรื่องเดิมได้รับโทษเช่นเดียวกับการเบิกความในครั้งแรก ถือว่าเป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องเป็นกรรมเดียวกัน แม้ฟ้องของโจทก์ทั้งสอง คงมีโจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้เรียงฟ้องแต่เพียงคนเดียว โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 เป็นทนายความหรือได้รับมอบอำนาจ จากโจทก์ที่ 2 ให้เป็นผู้แทนก็ตามเมื่อโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยร่วมกันในความผิดเดียวกัน และศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องของโจทก์ที่ 1 แล้ว การที่จะวินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์ที่ 2 จะชอบด้วยป.วิ.อ. มาตรา 158(7) หรือไม่ ก็ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไปปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันจะได้รับวินิจฉัย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฟ้องเท็จและเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175, 177, 181 และ 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 175, 177 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ลงโทษฐานฟ้องเท็จ จำคุก 6 เดือน และปรับ2,000 บาท รวม 2 กระทง จำคุก 1 ปี และปรับ 4,000 บาทฐานเบิกความเท็จในการพิจาณาคดีอาญา จำคุก 8 เดือน และปรับ3,000 บาท รวม 2 กระทง จำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 6,000 บาทรวมจำคุก 2 ปี 4 เดือน และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 1 ปี
โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำเลยฐานฟ้องเท็จกระทงหนึ่งและลงโทษฐานเบิกความเท็จอีกระทงหนึ่ง รวมจำคุก 1 ปี 2 เดือนและปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้กำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 และบังคับค่าปรับตามมาตรา 29,30ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติว่า จำเลยกับนายสวัสดิ์ รุจิราวงศ์ บิดาของโจทก์ทั้งสอง ต่างเป็นบุตรของนางเกิดแซ่ลิ้ม เจ้าของสิทธิการเช่าห้องเลขที่ 100 และ 102ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เมื่อปี พ.ศ. 2513 นางเกิดถึงแก่กรรมจำเลยได้รับมรดกสิทธิการเช่าห้องเลขที่ 100 นายสวัสดิ์ได้รับมรดกสิทธิการเช่าห้องเลขที่ 102 ห้องทั้งสองอยู่ติดกันแต่ไม่ฝากั้นโดยบุคคลทั้งสองค้าขายร่วมกัน เมื่อปี พ.ศ. 2515 จำเลยกับนายสวัสดิ์ได้ร่วมกันรับโอนสิทธิการเช่าห้องเลขที่ 104 จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ถัดจากห้องเลขที่ 102 โดยใส่ชื่อจำเลยเป็นคู่สัญญาเช่ากับสำนักงานทรัพย์สินส่วนมหากษัตริย์ เมื่อปี พ.ศ. 2520 จำเลยกับนายสัวสดิ์ได้ตกลงแยกกิจการค้าต่อกันโดยนายสวัสดิ์และครอบครัวย้ายไปอยู่ห้องเลขที่ 104 ส่วนห้องเลขที่ 102 ให้เป็นห้องเก็บของ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2524จำเลยได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบว่า โจทก์ทั้งสองได้บุกรุกเข้าไปในห้องเลขที่ 102 ซึ่งตนครอบครองและพนักงานอัยการได้ฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นจำเลยในข้อหาบุกรุกโดยจำเลยได้ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมและเข้าเบิกความในคดีดังกล่าวรวมสองครั้ง มีใจความว่าจำเลยและนายสวัสดิ์ได้แลกเปลี่ยนห้องเลขที่ 102 กับห้องเลขที่ 104 ต่อกันแล้ว วันเกิดเหตุโจทก์ทั้งสองได้บุกรุกเข้ามาในห้องเลขที่102 ของจำเลย และรื้อฝากั้นห้องระหว่างห้องเลขที่ 102 กับ 104กับได้นำสิ่งของของจำเลยไปไว้ที่บาทวิถี ศาลจังหวัดนครปฐมพิพากษาว่าโจทก์ทั้งสองมีความผิดฐานบุกรุกให้จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 2,000 บาท โทษจำคุกรอไว้คนละ 2 ปี ปรากฏตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3751/2526 ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องศาลฎีกาพิพากษายืน โดยฟังข้อเท็จจริงว่า ไม่มีการแลกเปลี่ยนห้องเลขที่ 102 กับห้องเลขที่ 104 ระหว่างนายสวัสดิ์กับจำเลยและไม่น่าเชื่อว่าในวันเกิดเหตุจะมีการรื้อฝาห้องระหว่างห้องเลขที่ 102กับห้องเลขที่ 104 การที่จำเลยขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการและการที่จำเลยเบิกความในคดีเรื่องเดิมโดยยืนยันว่ามีการแลกเปลี่ยนห้องเลขที่ 102 กับห้องเลขที่ 104 ระหว่างจำเลยกับนายสวัสดิ์และการที่จำเลยเบิกความว่า โจทก์ทั้งสองบุกรุกห้องเลขที่ 102 ของจำเลยนั้น เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จและเบิกความเท็จคดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองดังต่อไปนี้
1. การที่จำเลยยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ในคดีเรื่องเดิมนั้น เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จอีกกรรมหนึ่งหรือไม่ เห็นว่า แม้คำฟ้องฎีกาจะเป็น “คำฟ้อง” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(3)ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ก็ตามแต่การที่จำเลยยื่นคำฟ้องฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องโจทก์ ในเรื่องเดิมนั้นเป็นการกระทำโดยมีเจตนาให้ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีเรื่องเดิม ตามที่จำเลยได้ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการไว้ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องเป็นกรรมเดียวกันกับการที่จำเลยได้ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการไว้ตั้งแต่ศาลชั้นต้น ไม่เป็นความผิดต่างกรรมตามฎีกาของโจทก์ทั้งสอง
2. การที่จำเลยเบิกความเท็จในคดีเรื่องเดิมรวมสองครั้งถือว่าเป็นการกระทำต่างกรรมกันหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยเบิกความในคดีเรื่องเดิมครั้งแรกเมื่อวันที่ 8กันยายน 2524 แต่เบิกความไม่จบปาก ศาลมีคำสั่งให้เลื่อนไปซักค้านต่อในวันที่ 16 มิถุนายน 2525 ข้อความที่เบิกความครั้งแรกและครั้งหลังก็ต่อเนื่องกัน การเบิกความของจำเลยในครั้งหลังเจตนาที่จะให้โจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยในคดีเรื่องเดิมได้รับโทษเช่นเดียวกับการเบิกความในครั้งแรก ถือว่าเป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องเป็นกรรมเดียวกัน มิใช่เป็นความผิดต่างกรรมตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองเช่นกัน
ส่วนปัญหาที่ว่า การที่โจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้เรียงฟ้องแต่เพียงคนเดียว โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 เป็นทนายความหรือได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 1 ให้เป็นผู้แทนตนในคดีนี้นั้น ฟ้องในส่วนของโจทก์ที่ 2 ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158 (7) หรือไม่นั้น เห็นว่าคดีนี้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยร่วมกันในความผิดเดียวกันและศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องของโจทก์ที่ 1 แล้ว การที่จะวินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์ที่ 2 จะชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(7) หรือไม่ ก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ปัญหาข้อกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.