แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ประเด็นแห่งคดีมีว่า สหกรณ์โจทก์รู้เห็นเป็นใจให้จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่ากรรมการของโจทก์ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ได้ โดยจำเลยที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้คดีไว้ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์เป็นสัญญาจ้างแรงงานตาม ป.พ.พ. ม.575 โจทก์และจำเลยที่ 1ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างคำสั่งเลื่อนตำแหน่งหน้าที่จำเลยที่ 1 ของโจทก์ จึงมิใช่เรื่องแปลงหนี้ใหม่ สัญญาจ้างเดิมมิได้ระงับไป
สัญญาค้ำประกันมีข้อความชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดชอบในความเสียหายหรือหนี้สินที่จำเลยที่ 1 ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์ก่อขึ้นไม่ว่าด้วยเหตุใดๆมิได้ระบุว่าจะรับผิดชอบขณะที่จำเลยเป็นเสมียนเท่านั้น แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้เลื่อนขึ้นเป็นผู้จัดการ ก็ต้องถือว่ายังเป็นเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์โจทก์อยู่
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดใช้เงิน 699,577.42 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ถ้าไม่ชำระ ก็ให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระเงินให้โจทก์ 20,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ก็ให้จำเลยที่ 2 รับผิดชดใช้เงินจำนวน 699,577.42 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงซึ่งคู่ความมิได้โต้แย้งกันฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2514 โจทก์ได้ตกลงทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่สหกรณ์การเกษตรวาริชภูมิ จำกัด โจทก์อัตราค่าจ้างเดือนละ 600 บาท ปรากฏตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.4 จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.5 ปี พ.ศ. 2517 จำเลยที่ 1 ได้เลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการสหกรณ์โจทก์ และในวันที่ 4 ตุลาคม 2517 จำเลยที่ 1 ได้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 108 ตำบลวาริชภูมิ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนครกับโจทก์เพื่อค้ำประกันตนเองในวงเงิน 80,000 บาท ได้มีการเพิ่มเติมข้อความเกี่ยวกับเรื่องจำเลยที่ 1 นำโฉนดที่ดินดังกล่าวมาจำนองกับโจทก์ในสัญญาข้อ 5 ของสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.4 ด้วย ปี พ.ศ. 2520 จำเลยที่ 1 ได้เลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งผู้จัดการสหกรณ์โจทก์ ต่อมาปรากฏว่า เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2522 จำเลยที่ 1 ได้หลบหนีไป สหกรณ์จังหวัดสกลนครและผู้สอบบัญชีกรมตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ตรวจสอบบัญชีสหกรณ์โจทก์แล้ว ปรากฏว่าเงินของสหกรณ์โจทก์และสินค้าที่อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 ขาดหายไปรวมเป็นเงิน 699,577 บาท 42 สตางค์ คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อแรกว่าการที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระเงินให้โจทก์เพียงบางส่วนไม่เต็มตามฟ้องนั้น เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นดังข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์หรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีว่าโจทก์มีส่วนร่วมเปิดโอกาสรู้เห็นเป็นใจในการที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ เมื่อทางนำสืบฟังได้ว่ากรรมการของโจทก์คือตัวแทนโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 เก็บเงินไว้เกิน 20,000 บาท เป็นการผิดระเบียบ ความเสียหายจึงเกิดขึ้นแก่โจทก์เกินกว่า 20,000 บาท จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่า คำให้การของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวนั้นมีความหมายว่า โจทก์รู้เห็นเป็นใจในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ประเด็นแห่งคดีจึงมีว่า โจทก์รู้เห็นเป็นใจให้จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่ากรรมการของโจทก์ประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ได้โดยจำเลยที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้คดีไว้นั้น จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ถูกต้องแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 2 ฎีกาข้อที่สองว่า สิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.4 ได้ระงับไปแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 ด้วยการแปลงหนี้ใหม่ สัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.5 จึงระงับไปด้วย ฎีกาข้อนี้มีใจความว่าโจทก์มีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ 1เป็นผู้จัดการสหกรณ์โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.8 เป็นสัญญาอีกฉบับหนึ่งระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์และจำเลยที่ 1 มีสิทธิและหน้าที่ต่อกันใหม่และแตกต่างกับสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.4 หลายประการ สิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.4 จึงระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 สัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 จึงระงับไปด้วย พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.4 เป็นเรื่องที่โจทก์ตกลงว่าจ้างจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์จึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 โจทก์และจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันในฐานะนายจ้างกับลูกจ้าง และคำสั่งของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.8 ก็เป็นคำสั่งเลื่อนตำแหน่งหน้าที่จำเลยที่ 1 จากผู้ช่วยผู้จัดการเป็นผู้จัดการของโจทก์ กรณีดังกล่าวจึงมิใช่เรื่องแปลงหนี้ใหม่ดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาแต่อย่างใด
จำเลยที่ 2 ฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 ด้วยเหตุผล 2 ประการคือประการแรกสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.5 นั้นจะต้องตีความโดยเคร่งครัดว่าจำเลยที่ 2 จะต้องรับชดใช้ค่าเสียหายแทนจำเลยที่ 1 ก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวกระทำละเมิดต่อโจทก์ แต่ปรากฏว่ากรรมการของโจทก์จงใจหรือประมาทเลินเล่อและทำผิดระเบียบด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์สำหรับค่าเสียหายที่โจทก์ทำแก่ตัวโจทก์เอง พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้มิได้เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 มาตรา 7 จึงไม่รับวินิจฉัย ประการที่สอง จำเลยที่ 2 อ้างว่า จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ซึ่งทำหน้าที่เสมียน เมื่อมีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.8 จำเลยที่ 2 ย่อมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้น พิเคราะห์สัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 แล้ว มีข้อความว่า “ฯลฯ ตามที่สหกรณ์การเกษตรวาริชภูมิ จำกัด ได้จ้างนายพาณิชย์ ไตรยขันธ์ เป็นเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ดังกล่าวนี้ “ตามหนังสือสัญญาจ้างนายพาณิชย์ไตรยขันธ์” ที่ทำไว้ ณ วันที่ 1 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 นั้น ถ้านายพาณิชย์ไตรยขันธ์ ก่อให้เกิดความเสียหายหรือหนี้สินขึ้นต่อสหกรณ์ผู้จ้างไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ และถ้านายพาณิชย์ ไตรยขันธ์ไม่ชดใช้ความเสียหายหรือหนี้สินนั้น ๆ โดยสิ้นเชิงให้ตามที่สหกรณ์ผู้จ้างเรียกร้องไซร้ ข้าพเจ้ายินยอมชำระค่าเสียหายหรือหนี้สินนั้น ๆ ให้แก่สหกรณ์ผู้จ้างแทนนายพาณิชย์ ไตรยขันธ์ ตามความรับผิดชอบของนายพาณิชย์ ไตรยขันธ์ ทุกประการ ฯลฯ” เห็นว่า สัญญาค้ำประกันมีข้อความระบุชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับผิดชอบในความเสียหายหรือหนี้สินที่จำเลยที่ 1 ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์ก่อขึ้นต่อโจทก์ไม่ว่าโดยเหตุใด ๆ มิได้ระบุว่าจำเลยที่ 2 จะรับผิดชอบเฉพาะที่จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์ในตำแหน่งเสมียนเท่านั้น และพยานโจทก์คือนายประยนต์ ชมภูแสง และนายทองจันทรโพธิ์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและรองประธานกรรมการสหกรณ์โจทก์ก็เบิกความยืนยันว่าตำแหน่งผู้จัดการสหกรณ์โจทก์นั้นถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์ตามข้อบังคับข้อ 48 เอกสารหมาย จ.7 ดังนั้นแม้ว่าจำเลยที่ 1 จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ในขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้จัดการสหกรณ์ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ยังเป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์อยู่ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5″
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ